เรื่องของ”แครอท”และการดูแล

เมื่อ 3,000 ปีก่อนคริสตกาล ในสมัยอียิปต์โบราณ “แครอท”ถูกใช้เป็นอาหารและยา (อาจเป็นเพราะมีรสขม) และพบแครอทวางไว้ในสุสานของฟาโรห์ รวมทั้งภาพวาดต่าง ๆ

โดยสมัยก่อน “แครอท“มีสีดำ สีขาว สีแดง และสีม่วง ต่อมาในช่วงศตวรรษที่ 17 เนเธอร์แลนด์ได้คัดเลือกพันธุ์แครอทสีส้ม ไม่มีรสขม แต่มีรสหวาน และมีแกนน้อย

ปัจจุบันบนดอยหรือบนพื้นที่สูงของไทย เกษตรกรจะปลูกแครอทในช่วงเดือนตุลาคม – กุมภาพันธ์ เนื่องจากเป็นช่วงที่แครอทให้ผลผลิตและคุณภาพดีที่สุด โดยมีวิธีการปลูกแครอทและเบบี้ ดังนี้

วิธีการปลูก “แครอท” จะใช้วิธีหยอดหลุมๆ ละ 3-4 เมล็ด ระยะปลูก 20 x 20 เซ็นติเมตร แครอท จะเริ่มงอกให้เห็นภายใน 1 สัปดาห์ เมื่อปลูกได้ 1 เดือน ถอนแยกให้เหลือหลุมละ 1 ต้น พร้อมกับการใส่ปุ๋ยหมักหรือปุ๋ยคอก เมื่ออายุได้ 45 วัน แครอทจะเริ่มลงหัว ก็จะใส่ปุ๋ยอีกครั้ง อายุเก็บเกี่ยว 90-110 วัน ซึ่งโดยทั่วไปจะเก็บเกี่ยวได้ 2 ครั้ง (เก็บเกี่ยวครั้งแรกที่ 90 วัน เก็บอีกครั้งที่ 110 วัน)

FILE 20220107 09384AVUQKWB8PYL
แครอท

วิธีการปลูก “เบบี้แครอท” จะใช้วิธีโรยเป็นแถว (มักโรยเป็นแถวตามขวางของแปลง) ระยะห่างระหว่างแถว 20 เซ็นติเมตร เบบี้แครอท จะงอกใน 7-14 วัน หลังจากปลูก 1 เดือน ถอนแยกให้ต้นห่างกันประมาณ 1.5-2 เซ็นติเมตร อายุเก็บเกี่ยวประมาณ 60-70 วัน

กรณีการปลูก “เบบี้แครอท” ซึ่งต้องโรยเป็นแถว เกษตรกรจะนำเมล็ดใส่ขวดแก้วเล็ก ๆ (เช่น ขวดเครื่องดื่มชูกำลัง) แล้วเจาะรูที่ฝาพอให้เมล็ดลอดออกมาได้ สัก 4-5 รู เมื่อเขย่าขวดเพื่อโรยเมล็ดจะช่วยให้การโรยเมล็ดสม่ำเสมอดีขึ้น

การดูแลโดยเฉพาะการป้องกันกำจัดโรค-แมลงที่สำคัญ (ในระบบเกษตรอินทรีย์)

1) โรคพืชสำคัญที่มักเกิดขึ้นกับแครอท เช่น ใบจุด เน่าเละ และราแป้ง ซึ่งโรคใบจุดและเน่าเละ จะเกิดช่วงปลายฤดูฝนเข้าต้นฤดูหนาว (บนดอยช่วงฤดูฝนจะไม่นิยมปลูกแครอท เพราะผลผลิตจะเสียหายมาก…ไม่คุ้มค่า)

ถ้าแครอทเป็นโรคใบจุดตั้งแต่ยังไม่ลงหัวหรือหัวยังมีขนาดเล็กจะทำให้แครอทหัวไม่โตเท่าที่ควร วิธีป้องกันกำจัด คือ ฉีดพ่นด้วยสารประกอบทองแดง (copper) อัตรา 15-20 กรัมต่อน้ำ 20 ลิตร (หรือตามที่กำหนดไว้บนฉลาก/กล่อง) ทุกๆ 10 วัน

ส่วนกรณีเน่าเละ สามารถใช้เชื้อราไตรโคเดอร์มาช่วยป้องกันได้ตั้งแต่ช่วงเตรียมดิน (แปลง) โดยผสมปุ๋ยหมัก 50 กิโลกรัม รำละเอียด 10 กิโลกรัม และเชื้อราไตรโคเดอร์มาสด ถ้าเป็นเชื้อสดที่ขยายในเมล็ดข้าวสาร น้ำหนัก 250 กรัมต่อถุง ใช้ 2 ถุง หรือเชื้อสดที่ขยายในเมล็ดข้าวฟ่าง น้ำหนัก 500 กรัมต่อถุง ใช้ 2 ถุง เช่นเดียวกัน เพราะเชื้อที่ขยายในเมล็ดข้าวสารจะสร้างสปอร์ได้มากกว่าเชื้อที่ขยายในเมล็ดข้าวฟ่าง คลุกเคล้าให้เข้ากัน นำไปรองก้นหลุม อัตรา 5-10 กรัมต่อหลุม หรือประมาณ 1 ช้อนโต๊ะต่อหลุม ส่วนกรณีของราแป้ง จะใช้กำมะถัน อัตรา 60-80 กรัมต่อน้ำ 20 ลิตร ฉีดพ่นทุก 7-10 วัน

ที่สำคัญอีกอย่างคือ ห้ามใช้สารประกอบทองแดงร่วมกับกำมะถัน

2) แมลงสำคัญที่มักเข้าทำลาย (กรณีปลูกบนดอย) กัดกินรากและต้นอ่อน คือ จิ้งหรีด หรือ จิ้งกุ่ง ซึ่งกำจัดได้ยาก ต้องใช้วิธีขุดแล้วจับตัวออกมา กับใช้น้ำมันหมูใส่ในขวดพลาสติก แล้วเอาไปล่อไว้ที่รูจิ้งหรีด ช่วงที่มีการระบาดมาก ๆ ชาวบ้านจะจับจิ้งหรีดขายกัน ราคาดีทีเดียว

ประโยชน์ของแครอท

1.นิยมนำมาประกอบอาหารทั้งคาวและหวาน

2.ใช้ทำเป็นน้ำผลไม้เพื่อสุขภาพหรือน้ำแครอท หรือนำมาทำเป็นเค้กแครอท

3.ในด้านความงาม นำน้ำแครอทผสมมะนาว ทาผิวหน้าบำรุงผิวพรรณ ลดรอยเหี่ยวย่นบนใบหน้า

4.ใช้เป็นส่วนผสมในเครื่องสำอางบางชนิด เช่น สบู่แครอท เป็นต้น

ที่มาข้อมูล สถาบันวิจัยและพัฒนาพื้นที่สูง ( องค์การมหาชน )