จุรินทร์ ถกญี่ปุ่น ดันส่งออก “กล้วย” ให้เต็มโควตาที่เหลืออีก 5,000 ตัน

“จุรินทร์”ถกญี่ปุ่น ผลักดันส่งออก “กล้วย” ไปญี่ปุ่นภายใต้ JTEPA ให้เต็มโควตาที่เหลืออีก 5,000 ตัน เสนอญี่ปุ่นให้เข้ามาช่วยให้ความรู้กฎเกณฑ์ กติกา วิชาการ เพื่อให้ไทยส่งออกได้ พร้อมขอให้ช่วยสนับสนุนไทยเป็นเจ้าภาพจัดงาน Specialized Expo 2028 ด้านญี่ปุ่นย้ำเดินหน้าเพิ่มความร่วมมือเอกชนญี่ปุ่น-อาเซียนสร้างเครือข่ายการค้า

นายจุรินทร์ ลักษณวิศิษฏ์ รองนายกรัฐมนตรีและรัฐมนตรีว่าการกระทรวงพาณิชย์ เปิดเผยถึงผลการหารือทวิภาคีกับนายนิชิมูระ ยาสุโทชิ รัฐมนตรีว่าการกระทรวงเศรษฐกิจการค้าและอุตสาหกรรมของญี่ปุ่น (MITI) ที่ศูนย์ประชุมแห่งชาติสิริกิต์ เมื่อวันที่ 16 พ.ย.2565 ที่ผ่านมาว่า ไทยได้ใช้โอกาสนี้หารือในประเด็นความตกลงหุ้นส่วนเศรษฐกิจไทย-ญี่ปุ่น (JTEPA) ที่ญี่ปุ่นให้โควตาส่งออกกล้วยของไทยไปญี่ปุ่นปีละ 8,000 ตัน แต่ที่ผ่านมาไทยใช้ประโยชน์ได้แค่ 3,000 ตัน ยังขาดอยู่อีก 5,000 ตัน ที่ยังใช้โควตานี้ไม่หมด เพราะเกิดปัญหาอุปสรรคของภาคการผลิตให้เป็นไปตามมาตรฐานข้อกำหนดค่อนข้างซับซ้อน จึงได้ขอความร่วมมือจากรัฐมนตรีให้กระทรวง MITI ช่วยบริหารจัดการให้องค์การส่งเสริมการค้าต่างประเทศของญี่ปุ่น (JETRO) เข้ามามีบทบาทให้ข้อมูลให้ความรู้ทั้งกฎเกณฑ์ กติกา วิชาการ และแอปพลิเคชันต่าง ๆ ให้เกษตรกรของไทยโดยกระทรวงพาณิชย์จะเป็นหน่วยงานหลักร่วมกับกระทรวงเกษตรและสหกรณ์ให้เกษตรกรได้ใช้โควตาให้ครบอีก 5,000 ตัน สร้างรายได้ให้ประเทศและรายได้ให้เกษตรกรผู้ปลูกกล้วยของไทยต่อไป

6375aa96abe44
ไทยถกญี่ปุ่น ดันส่งออก “กล้วย”

ทั้งนี้ ยังได้ขอให้ญี่ปุ่นช่วยพิจารณาสนับสนุนให้ภูเก็ตเป็นเจ้าภาพจัด Specialized Expo 2028 ด้วย ซึ่งรัฐมนตรีรับไปพิจารณา ซึ่งงาน Specialized Expo 2028 ไทยในฐานะสมาชิกองค์การนิทรรศการนานาชาติ (Bureau International des Expositions – BIE) ได้ยื่นเสนอตัวเป็นเจ้าภาพจัดงานที่ จ.ภูเก็ต มีหัวใจสำคัญของการจัดงาน คือ การใช้พื้นที่พัฒนาสู่ศูนย์กลางด้านสุขภาพครบวงจร เพื่อนำเสนอภูเก็ตในฐานะจุดหมายปลายทางสุขภาพชั้นนำของโลก และส่งเสริมภาพลักษณ์ด้านการท่องเที่ยวเชิงสุขภาพที่ไทยมีศักยภาพ ซึ่งจะจัดให้มีการเลือกประเทศเจ้าภาพจัดงานดังกล่าวในเดือน มิ.ย.2566

นายจุรินทร์กล่าวว่า ญี่ปุ่นได้หยิบยกโครงการที่ญี่ปุ่นจะจัดขึ้นเพื่อฉลองความสัมพันธ์ครบรอบ 50 ปี ญี่ปุ่น-อาเซียน โดยมีนโยบายที่เรียกว่า Co-create Vision จับมือกับอาเซียนสร้างเครือข่ายทั้งภาคเอกชนและภาครัฐ แบ่งเป็น 3 ส่วน

ได้แก่ 1.การสร้างเครือข่าย 100 เครือข่าย ระหว่างเอกชนญี่ปุ่นกับเอกชนของอาเซียนจับคู่กัน เช่น ร่วมลงทุนซื้อขายสินค้าบริการด้วยกัน หรือจับคู่ทางธุรกิจอื่น เป็นต้น 2.การจับคู่ในส่วนที่เกี่ยวข้องกับซัปพลายเชน การทำงานด้านการผลิตสินค้าและบริการร่วมกัน โดยใช้ซัปพลายเชน วัตถุดิบ การแปรรูประหว่างกัน ทั้งญี่ปุ่นและอาเซียนให้ได้ 100 เคส และ 3.โครงการการร่วมกันระหว่างญี่ปุ่นกับอาเซียนแก้ปัญหาสิ่งแวดล้อม 100 เคส เช่น BCG หรือ Green Economy ซึ่งตนตอบรับด้วยความยินดี โดยทางญี่ปุ่นแจ้งให้ทราบว่าเตรียมงบประมาณ 8,000 ล้านเยนหรือประมาณ 2,100 ล้านบาท

ขณะเดียวกัน ญี่ปุ่นได้หยิบยกกรณีความตกลงหุ้นทางเศรษฐกิจระดับภูมิภาค (RCEP) ซึ่งปัจจุบันมีสมาชิก 15 ประเทศ จับมือสร้างความเข้มแข็งให้กับ RCEP ซึ่งตอนที่ไทยเป็นเจ้าภาพ ตนมีส่วนสำคัญในการเป็นประธานรัฐมนตรีเศรษฐกิจ RCEP จนนำไปสู่ข้อสรุป นำไปสู่การให้สัตยาบันแล้ว เริ่มต้นแล้ว โดยได้ตอบรับญี่ปุ่นในการขับเคลื่อน RCEP ให้มีความเข้มแข็งต่อไป เพราะถือว่าเป็น FTA ที่ใหญ่ที่สุดในโลกในปัจจุบัน

สำหรับกรอบความร่วมมือทางเศรษฐกิจอินโด-แปซิฟิก (Indo-Pacific Economic Framework – IPEF) ปัจจุบันสมาชิกมี 14 ประเทศ ญี่ปุ่นขอให้ไทยช่วยกันขับเคลื่อนให้มีการเดินหน้าต่อไป ซึ่งได้ตอบรับ เพราะร่วมในการเริ่มต้นก่อตั้งตอนประกาศจัดตั้งที่โตเกียวเมื่อเดือนพ.ค.2565

ผู้สื่อข่าวรายงานว่า กล้วย (Banana) ที่นิยมรับประทานกันในบ้านเรานั้นมีอยู่หลากหลายสายพันธุ์ เช่น กล้วยหอม กล้วยน้ำว้า กล้วยไข่ กล้วยหักมุก เป็นต้น แต่สำหรับต่างชาติแล้วกล้วยที่นิยมมากที่สุดคงหนีไม่พ้นกล้วยหอมเนื่องจากมีกลิ่นหอมที่เป็นเอกลักษณ์ ถ้าพูดถึงเรื่องประโยชน์แล้วมีงานวิจัยชิ้นหนึ่งระบุชัดเจนว่าการรับประทานกล้วยแค่ 2 ลูกจะช่วยเพิ่มพลังงานในร่างกายได้เทียบเท่ากับการออกกำลังกายถึง 90 นาทีเลยทีเดียว เพราะกล้วยอุดมไปด้วยน้ำตาลจากธรรมชาติรวมถึง 3 ชนิด คือ ซูโครส กลูโคส และฟรุกโทส ซึ่งช่วยเพิ่มพลังงานให้แก่ร่างกายนั่นเอง การกินกล้วยจะให้ผลดีที่สุดคือกินตอนเช้า เพราะจะช่วยให้ระบบต่าง ๆ ในร่างกายทำงานได้ดีและการกินกล้วยทุกวัน วันละ 2 ผล