สำนักงานการวิจัยแห่งชาติ ( วช.) กระทรวงการอุดมศึกษา วิทยาศาสตร์ วิจัยและนวัตกรรม ให้การสนับสนุนนวัตกรรมผลิตภัณฑ์จากไม้ไผ่เพื่อเพิ่มมูลค่าทางเศรษฐกิจชุมชนฐานราก เพื่อส่งเสริมและสนับสนุนการพัฒนาธุรกิจชุมชนอย่างยั่งยืน จากการแปรรูปผลิตภัณฑ์จากไม้ไผ่ แบบครบวงจรโดยใช้ทรัพยากรที่มีตามธรรมชาติอย่างคุ้มค่า โดยการดำเนินโครงการของทีมนักวิจัยจากคณะเทคโนโลยีอุตสาหกรรม มหาวิทยาลัยราชภัฏอุตรดิตถ์ ด้วยการนำองค์ความรู้และเทคโนโลยีมาปรับใช้ในการพัฒนาผลิตภัณฑ์ไม้ไผ่จากชุมชน รวมถึงการพัฒนากระบวนการผลิตในอุตสาหกรรมแปรรูปไม้ไผ่ในระดับวิสาหกิจชุมชนอย่างเหมาะสมและสามารถพึ่งพาตนเองได้ สามารถยกระดับผลิตภัณฑ์ตามความต้องการของตลาด พร้อมหาช่องทางในการจำหน่ายสินค้า เพื่อลดความเสี่ยงสินค้าล้นตลาด
ทั้งนี้ ดร.วิภารัตน์ ดีอ่อง ผู้อำนวยการสำนักงานการวิจัยแห่งชาติ กล่าวว่า วช . เป็นกลไกสำคัญของรัฐในการขับเคลื่อนให้การสนับสนุนงานวิจัย สิ่งประดิษฐ์คิดค้น หรือ นวัตกรรมต่าง ๆ ที่เป็นประโยชน์ต่อประชาชน และสามารถถ่ายทอดเป็นองค์ความรู้สู่ชุมชน รวมถึงการส่งเสริมพัฒนาคุณภาพชีวิตและสิ่งแวดล้อม การบริหารจัดการทรัพยากรธรรมชาติที่มีอยู่ในชุมชน เป็นหัวใจสำคัญที่สามารถสร้างรายได้ให้กับชาวชุมชน โดยได้รับการสนับสนุนองค์ความรู้ทางด้านเทคโนโลยีใช้เป็นเครื่องมือเอื้ออำนวยความสะดวกในการทำผลิตภัณฑ์ในชุมชน
อย่างที่บ้านวังร่อง ตำบลห้วยไร่ อำเภอหล่มสัก จังหวัดเพชรบูรณ์ ซึ่งมีการจัดตั้งเป็นศูนย์การเรียนรู้ปรัชญาเศรษฐกิจพอเพียง ได้นำองค์ความรู้ทางเทคโนโลยี จากนักวิจัยของมหาวิทยาลัยราชภัฏอุตรดิตถ์ มาพัฒนากระบวนการผลิตในอุตสาหกรรมแปรรูปไม้ไผ่ในระดับวิสาหกิจชุมชน และมีการต่อยอดไปอีกหลายชุมชน ที่นำวัตถุดิบจากไม้ใผ่ที่มีอยู่ตามธรรมชาติมาผลิตเป็นนวัตกรรมชุมชนซึ่งสามารถพึ่งพาตัวเองได้สร้างเศรษฐกิจฐานรากได้อย่างยั่งยืน และนวัตกรรมนี้เป็นหนึ่งใน 50 ชิ้นงานที่นำมาแสดงที่สำนักงานการวิจัยแห่งชาติ เนื่องในโอกาสวันสถาปนาครบรอบ 63 ปี เมื่อวันที่ 25-28 ตุลาคม 2565 ที่ผ่านมา
รศ.ดร.กันต์ อินทุวงศ์ อาจารย์นักวิจัยจากคณะเทคโนโลยีอุตสาหกรรม มหาวิทยาลัยราชภัฏอุตรดิตถ์ เปิดเผยว่าทางทีมวิจัยได้เล็งเห็นถึงความสำคัญของทรัพยากรธรรมชาติไม้ไผ่ในชุมชน ที่กระจายอยู่ในหลายจังหวัด หากมีการนำองค์ความรู้ทางเทคโนโลยีมาสร้างเป็นนวัตกรรมชุมชนจะทำให้มีความเข้มแข็งมากยิ่งขึ้น จึงได้ร่วมกับกองอำนวยการรักษาความมั่นคงภายในราชอาณาจักร หรือ กอ.รมน. โดยการสนับสนุนทุนวิจัยจาก วช. พัฒนากระบวนการแปรรูปไม้ไผ่ ผ่านนวัตกรรมเครื่องผ่าไม้ไผ่ กลไกจักตอกไม้ไผ่ และเลาะข้อ สนับสนุนการทำผลิตภัณฑ์ สามารถเพิ่มปริมาณการผลิต สอดคล้องกับความต้องการของตลาด อย่างเช่นที่บ้านวังร่อง ตำบลห้วยไร่ อำเภอหล่มสัก จังหวัดเพชรบูรณ์ ได้มีการนำนวัตกรรมนี้มาสาธิตให้กับชาวชุมชน ซึ่งได้ผลเป็นที่น่าพอใจเนื่องจากตอบโจทย์รากฐานการผลิตของสินค้าชุมชน ผลิตภัณฑ์เครื่องจักสานจากไม้ไผ่ เป็นการเสริมองค์ความรู้พื้นฐานที่ชาวบ้านมีอยู่แล้วจากภูมิปัญญาท้องถิ่น
นอกจากนี้ยังมีการขยายผลต่อยอดนวัตกรรมเทคโนโลยีแปรรูปไม้ไผ่ เพื่อนำไปสร้างผลิตภัณฑ์ชุมชนอีกหลายพื้นที่อาทิ ที่ตำบลเมืองลีง อำเภอจอมพระ จังหวัดสุรินทร์ อำเภอตาพระยา จังหวัดสระแก้ว ผู้นำชุมชนได้ร่วมกับชาวบ้าน และ กอ.รมน. ในพื้นที่ได้รับการถ่ายทอดทางเทคโนโลยี ภายใต้โครงการการจัดการความรู้การวิจัยและมีส่วนร่วมเพื่อประโยชน์จากเทคโนโลยีเครื่องผ่าไม้ไผ่ เครื่องจักตอก และเลาะข้อ และโครงการยกระดับนวัตกรรมชุมชนและนวัตกรรมชุมชนต้นแบบด้วยการวิจัยและพัฒนาอย่างยั่งยืน ซึ่งเป็นกระบวนการจัดการตั้งแต่ต้นน้ำ กลางน้ำ และปลายน้ำเพื่อเสริมศักยภาพทางเศรษฐกิจของชุมชน หากมีชุมชนสนใจนวัตกรรมนี้สามารถติดต่อได้รองศาสตราจารย์ ดร.กันต์ อินทุวงศ์ คณบดีคณะเทคโนโลยีอุตสาหกรรม มหาวิทยาลัยราชภัฏอุตรดิตถ์ โทร 0817276735 , 0910289022 Mail [email protected] Facebook Gunt lntuwong
ผู้สื่อข่าวรายงานว่า ไม้ไผ่มีคุณสมบัติพิเศษทั้งด้านความแข็งแรงและยืดหยุ่นที่เหนือกว่าวัสดุสังเคราะห์หลายชนิด ดังนั้นจึงยังได้รับความนิยมในการทำเครื่องมือเครื่องใช้หลายประเภท ใช้ชะลอน้ำที่เข้าป่าชายเลน นั่งร้านก่อสร้างและบันได เป็นต้นสำหรับในประเทศไทยพบไผ่อยู่ประมาณ 30 ชนิด