กรมวิชาการเกษตร จัดใหญ่สัมมนา “ทุเรียนไทย ทุเรียนคุณภาพ” (Premium Thai Durian)

กรมวิชาการเกษตรเตรียมจัดสัมมนา “ทุเรียนไทย ทุเรียนคุณภาพ” (Premium Thai Durian) ในวันที่ 19 ธันวาคม 2565 โดยมีผู้เข้าร่วมสัมมนากว่า 200 คน ได้แก่ ผู้ประกอบการส่งออก ผู้ประกอบการโรงคัดบรรจุและตัวแทนผู้ประกอบการส่งออกผลไม้ไปจีน เพื่อให้ผู้ประกอบการส่งออกทุเรียนสดของไทยเข้าใจในการผลักดันนโยบาย ทุเรียนไทย ทุเรียนคุณภาพ (Premium Thai Durian)และได้รับความรู้ความเข้าใจ สามารถแสดงข้อมูลประกอบการยื่นคำขอใบรับรองสุขอนามัยพืช ได้อย่างถูกต้อง เข้าใจในกระบวนการตรวจสอบคุณภาพ และรับรองสุขอนามัยพืชสำหรับการส่งออกทุเรียนทั้งระบบ
.

319811323 490070896605463 1898783011609549685 n 1


“ปัจจุบันจีนให้ความสำคัญกับทุเรียนสดที่มีคุณภาพและมาตรฐานมากยิ่งขึ้น บทบาทในการกำกับดูแลของกรมวิชาการเกษตร ตั้งแต่กระบวนการผลิต ต้องผ่านมาตรฐานการปฏิบัติทางการเกษตรที่ดีของทุเรียน (GAP) การตัดทุเรียนคุณภาพ การรวบรวมและคัดบรรจุทุเรียนผลสดที่ได้มาตรฐาน เพื่อเพิ่มความเชื่อมั่นและรักษาภาพลักษณ์ของทุเรียนไทยอย่างยั่งยืน โดยมีการติดตาม ทวนสอบมาตรการตรวจสอบคุณภาพและรับรองสุขอนามัยพืชสำหรับทุเรียนส่งออกไปจีน ตามนโยบายของกระทรวงเกษตรและสหกรณ์ให้เห็นผลอย่างเป็นรูปธรรม ร่วมกับกลุ่มผู้มีส่วนได้ส่วนเสียในระบบการส่งออกทุเรียนสดไทยไปต่างประเทศ เพื่อส่งเสริมความเข้มแข็งในการส่งออกทุเรียนไทย ซึ่งผู้ประกอบการส่งออกทุเรียนสดมีส่วนช่วยผลักดันให้การส่งออกทุเรียนสดของไทยมีความยั่งยืนทางเศรษฐกิจ รวมทั้งยกระดับการแข่งขันในเรื่องคุณภาพ มาตรฐานของทุเรียนไทย”

ผู้ประกอบการควรปรับตัวอย่างไร ท่ามกลางการแข่งขันในตลาดทุเรียนโลกที่ทวีความรุนแรงมากขึ้น

Krungthai COMPASS ได้เคยแนะนำว่า หากผู้ประกอบการทุเรียนของไทยต้องการสร้างความสามารถในการแข่งขันอย่างยั่งยืนควรใช้หลัก D-U-R-I-A-N ได้แก่

D – Develop พัฒนาเทคโนโลยีด้านการเพาะปลูกและบรรจุภัณฑ์ โดยพัฒนาเทคโนโลยีการเกษตรอัจฉริยะ เช่น การใช้เทคโนโลยี AI ในการติดตามสภาพและการเจริญเติบโตของต้นทุเรียน ระบบควบคุมการให้น้ำและปุ๋ยอัตโนมัติ ระบบการบรรจุหีบห่อ รวมไปถึงการขนส่งที่เหมาะสมอย่างการใช้ระบบขนส่งเย็น (Cold Chain Logistics) สำหรับการส่งออกทุเรียนแช่เย็นแช่แข็ง นอกจากนี้ ควรเร่งประยุกต์ใช้นวัตกรรมบรรจุภัณฑ์ อาทิ เทคโนโลยีการพัฒนาบรรจุภัณฑ์ เพื่อรักษาความสดและยืดอายุของทุเรียน (Active Packaging) หรือการใช้ระบบ QR Code ซึ่งสามารถตรวจสอบย้อนกลับในทุกกระบวนการผลิตเพื่อสร้างความเชื่อมั่นด้านคุณภาพและความปลอดภัยของทุเรียนที่ปลอดเชื้อ COVID-19

U – Unique นำเสนอเอกลักษณ์ของทุเรียนไทย ทั้งรสชาติและเนื้อสัมผัสที่แตกต่างจากทุเรียนของคู่แข่ง รวมทั้งเสริมสร้างภาพลักษณ์ทุเรียนในระดับพรีเมียม เน้นนำเสนอเอกลักษณ์ของทุเรียนไทยที่มีรสชาติหวานมันและมีกลิ่นหอมแตกต่างจากทุเรียนของคู่แข่ง โดยประชาสัมพันธ์ผ่านช่องทางตลาดออฟไลน์และออนไลน์ เพื่อสร้างการรับรู้และตอกย้ำคุณภาพของทุเรียนไทย เช่น การประชาสัมพันธ์ผ่าน Platform ออนไลน์อย่าง TikTok, Weibo หรือการทำ Live Streaming ร่วมกับนักไลฟ์มืออาชีพที่มียอดผู้ติดตามจำนวนมาก และการเข้าร่วมเทศกาลทุเรียนระดับนานาชาติ รวมทั้งผลักดันทุเรียนไทยที่มีศักยภาพในการทำการตลาดระดับพรีเมียม เช่น ทุเรียนภูเขาไฟศรีสะเกษ ทุเรียนหลงลับแล เป็นต้น ซึ่งจะช่วยเพิ่มส่วนแบ่งตลาดของผู้บริโภคที่มีกำลังซื้อสูง

R – Research เน้นการวิจัยและพัฒนาสายพันธุ์ทุเรียนให้มีคุณภาพและทนต่อการเกิดโรค โดยอาจใช้เทคโนโลยีชีวภาพ (Biotechnology) ในการคัดเลือกให้ได้สายพันธุ์ทุเรียนที่มีลักษณะตรงตามความต้องการของผู้บริโภคและสามารถต้านทานต่อโรคได้ รวมถึงวิจัยและพัฒนาทุเรียนลูกผสมสายพันธุ์ใหม่ที่มีคุณภาพ และสามารถเก็บเกี่ยวผลผลิตในช่วงนอกฤดูกาลเก็บเกี่ยวปกติ

I – Improve ปรับปรุงต่อยอดสู่ผลิตภัณฑ์ใหม่ ๆ ที่มีมูลค่าเพิ่มสูง รวมทั้งขยายช่องทางการจำหน่ายทุเรียนไทยผ่านระบบ e-Commerce มากขึ้น เน้นสร้างมูลค่าเพิ่มให้กับผลผลิตทุเรียนด้วยการแปรรูปเป็นผลิตภัณฑ์ต่าง ๆ เพื่อตอบสนองความต้องการของผู้บริโภคที่หลากหลาย เช่น ทุเรียน Freeze dried ขนม/ของว่างและเครื่องดื่มที่มีส่วนผสมของทุเรียน เช่น ช็อตโกแลตไส้ทุเรียน พิซซ่าทุเรียน เฟรนช์ฟรายทุเรียน กาแฟทุเรียน เป็นต้น รวมทั้งขยายช่องทางการจำหน่ายทุเรียนออนไลน์มากขึ้น ซึ่งมีแนวโน้มเติบโตสูงในยุค New Normal

A – Assurance ภาครัฐควรมีบทบาทสำคัญในการสร้างความเชื่อมั่นของระบบการผลิตตลอดห่วงโซ่อุปทานทุเรียน ตั้งแต่การกำหนดเขตพื้นที่ที่เหมาะสมในการปลูกทุเรียน (Zoning) การประเมินและวางแผนปริมาณผลผลิตทุเรียนที่จะออกสู่ตลาด การบริหารจัดการสวนและโรงคัดบรรจุให้ได้ตามมาตรฐาน GAP และ GMP อย่างเข้มงวด การควบคุมคุณภาพของทุเรียนส่งออก เพื่อขจัดปัญหาทุเรียนอ่อน ตลอดจนปรับปรุงระบบโลจิสติกส์เพื่อการขนส่ง

N – New market ขยายการส่งออกทุเรียนไปตลาดที่มีศักยภาพ เพื่อลดความเสี่ยงจากการส่งออกที่กระจุกตัวในตลาดจีน แม้ว่าความต้องการนำเข้าทุเรียนในตลาดจีนมีแนวโน้มเพิ่มขึ้นอย่างต่อเนื่อง แต่ในทางกลับกันก็นับเป็นปัจจัยเสี่ยงที่สำคัญต่อการส่งออกทุเรียนของไทย หากทางการจีนปรับเปลี่ยนนโยบายนำเข้าสินค้าหรือมีการปิดด่านขนส่งทางบกเป็นระยะเวลานาน จะทำให้การส่งออกทุเรียนของไทยหยุดชะงัก

ทั้งนี้ Krungthai COMPASS มองว่า ตลาดศักยภาพที่ไทยสามารถส่งเสริมการส่งออกทุเรียน เพื่อลดความเสี่ยงจากการพึ่งพาตลาดจีน ได้แก่ ตลาดญี่ปุ่น ไต้หวัน เกาหลีใต้ และสหรัฐฯ เนื่องจากกลุ่มประเทศเหล่านี้มีอัตราการเติบโตเฉลี่ยของการนำเข้าทุเรียน(CAGR ปี 2561-2564) สูงที่ 5% 39.6% 25.2% และ 22.8% ตามลำดับ แต่ยังมีส่วนแบ่งตลาดของการนำเข้าทุเรียนที่ต่ำกว่าค่าเฉลี่ยอยู่มาก อีกทั้งผู้บริโภคมีศักยภาพในการใช้จ่ายที่สูง สะท้อนจากรายได้ต่อหัว (GDP per capita) อยู่ในระดับสูง