นายกฯ ยินดี การส่งออกน้ำตาลไทยคึกคัก คาดมีมูลค่าสูงถึง 3.7 พันล้านดอลลาร์ ในปี 2566

วันที่ 24 ธันวาคม 2565 นายอนุชา บูรพชัยศรี รองเลขาธิการนายกรัฐมนตรีฝ่ายการเมือง ปฏิบัติหน้าที่โฆษกประจำสำนักนายกรัฐมนตรี เปิดเผยว่า พลเอก ประยุทธ์ จันทร์โอชา นายกรัฐมนตรีและรัฐมนตรีว่าการกระทรวงกลาโหม รับทราบจากการรายงานว่าปริมาณการส่งออกน้ำตาลของประเทศไทยมีแนวโน้มเพิ่มมากขึ้น ยินดีที่จะเป็นอีกส่วนสำคัญในการกระตุ้นฟื้นฟูเศรษฐกิจ

IMG 63066 20221224095038000000
นายอนุชา บูรพชัยศรี ปฏิบัติหน้าที่โฆษกประจำสำนักนายกรัฐมนตรี


โฆษกประจำสำนักนายกรัฐมนตรี เปิดเผยว่า ไทยถือเป็นหนึ่งในผู้ผลิตและผู้ส่งออกน้ำตาลทรายอันดับต้น ๆ ของโลก ซึ่งจากการรายงานศูนย์วิจัยกสิกร คาดว่าปี 2566 มูลค่าการส่งออกน้ำตาลทรายของไทยน่าจะขยายตัวต่อเนื่องจากปี 2565 ที่อาจเติบโตได้ถึง 125% โดยเมื่อเปรียบเทียบช่วงเดียวกันของ 2 ปีก่อนหน้านี้ ที่เกิดภาวะเศรษฐกิจถดถอยในช่วงปี2563-2564 และผลกระทบโควิด ใน 10 เดือนแรกของปี 2565 มูลค่าการส่งออกน้ำตาลทรายได้ขยายตัว 120.1% ซึ่งคาดว่ามูลค่าการส่งออกน้ำตาลของประเทศไทยจะสูงถึง 3.7 พันล้านดอลลาร์ ในปี 2566 โดยขยายตัว 1-5% ทั้งนี้ ช่วง 10 ปีที่ผ่านมา ไทยถือเป็นผู้ผลิตน้ำตาลรายใหญ่ลำดับที่ 4 ของโลก รองจากบราซิล อินเดีย และอียู ซึ่งจากปัจจัยที่เอื้ออำนวยในปีนี้และปีหน้า ประเทศไทยสามารถไต่อันดับการส่งออกน้ำตาลในระดับที่สูงขึ้นได้ 

ประกอบกับปริมาณผลผลิตและสต็อกน้ำตาลทรายของไทยเพียงพอกับความต้องการในตลาดส่งออกที่เพิ่มขึ้นสูง ซึ่งเป็นผลมาจากปัจจัยทางสภาพภูมิอากาศที่สามารถปลูกอ้อยได้ดี ทำให้สามารถผลิตน้ำตาลได้ปริมาณมาก และมีคุณภาพสูง สำหรับฤดูกาลผลิตอ้อยปี 2565/2566 คาดว่าจะมีปริมาณผลผลิตมากกว่า 100 ล้านตัน และจากการที่อินเดีย ซึ่งเป็นผู้ผลิตน้ำตาลอันดับ 2 ของโลกจำกัดการส่งออกน้ำตาลจนถึงเดือนตุลาคม 2566 เพิ่มโอกาสให้ไทยสามารถเพิ่มมูลค่าการส่งออกน้ำตาลได้ ขณะที่การส่งออกน้ำตาลทรายพบว่า มีตลาดคู่ค้าใหม่หลายประเทศที่ต้องการนำเข้าน้ำตาลทรายจากไทยมากขึ้น เช่น จีน แทนซาเนีย เคนยา

อย่างไรก็ดียังมีอีกหลายปัจจัยแม้ว่าจะมีโอกาสทางการค้าแต่อาจมีปัจจัยแวดล้อมอื่น ๆ ด้วย ซึ่งเป็นผลสืบเนื่องมาจาก ปริมาณการผลิตน้ำตาลที่มากขึ้นจากบราซิล ไทย และจีน อาจส่งผลให้ราคาน้ำตาลในตลาดโลกปรับตัวลดลง

“นายกรัฐมนตรีชื่นชม และขอบคุณการทำงานของทุกภาคส่วน ที่ช่วยผลักดันการส่งออกสินค้าของไทย การร่วมแรงร่วมใจนี้จะช่วยเพิ่มโอกาสฟื้นฟูเศรษฐกิจให้ประเทศ อย่างไรก็ดี กระแสโลกทุกวันนี้มีการเปลี่ยนแปลงเสมอ ผู้คนคำนึงถึงสุขภาพในการรับประทานอาหารมากขึ้น จึงอยากให้ภาคส่วนธุรกิจคำนึงถึงผลกระทบจากการเปลี่ยนแปลงและนำมาปรับใช้ สร้างไอเดียทางธุรกิจ ต่อยอดประกอบกับการพัฒนาทางนวัตกรรม เพื่อให้ไทยไม่ตกกระแส และมีการพัฒนาเปลี่ยนแปลงการดำเนินกิจกรรมทางเศรษฐกิจที่เท่าทันกระแสของโลกเสมอ” นายอนุชาฯ กล่าว

ผู้สื่อข่าวรายงานว่า ชาวไร่อ้อยได้ติดตามราคาน้ำตาลทรายดิบใกล้ชิด อย่างเดือนตุลาคม 65 ที่ผ่านมาราคาส่งมอบขึ้นไปแตะระดับ 20.31 เซ็นต์ต่อปอนด์จากที่ช่วงต้นปีราคาเฉลี่ยอยู่ที่กว่า 18 เซนต์ต่อปอนด์เนื่องจากโรงงานน้ำตาลบราซิล ซึ่งเป็นผู้ส่งออกน้ำตาลใหญ่สุดของโลกนำน้ำตาลไปผลิตเอทานอลแทนเพราะได้กำไรที่สูงกว่าเนื่องจากระดับราคาน้ำมันดิบที่ปรับตัวเพิ่มขึ้นจากวิกฤติการสู้รบรัสเซีย-ยูเครน ทั้งนี้ราคาน้ำตาลทรายดิบตลาดโลกเฉลี่ยทรงตัวระดับสูงต่อได้ส่งผลดีต่อระดับราคาอ้อยขั้นต้นฤดูการผลิตปี 2565/66 อยู่ในเกณฑ์สูงตามไปด้วย

“ปัจจัยหลักที่ทำให้ราคาน้ำตาลทรายดิบตลาดโลกสูงขึ้นมาจากการผลิตน้ำตาลทรายของบราซิลลดลงไปพอสมควรเพราะหันไปผลิตเอทานอลแทนทำให้น้ำตาลในตลาดลดลง แต่ในแง่ปริมาณผลผลิตน้ำตาลของบราซิลปีนี้ก็ยังคงสูงกว่าปีที่ผ่านมาประมาณ 7% หรือมีการคาดการณ์อยู่ที่34.5 ล้านตัน”

ทั้งนี้จากระดับราคาน้ำตาลทรายดิบตลาดโลกที่ทรงตัวระดับสูง มีการส่งออกน้ำตาลทรายดิบฤดูการผลิตปี 2565/66 ไปแล้ว ในราคาเฉลี่ยกว่า 18 เซนต์ต่อปอนด์ทำให้ปริมาณน้ำตาลที่เหลือจะทำราคาได้ในระดับสูงขึ้นอีกจึงนับเป็นการการันตีราคาอ้อยขั้นต้นฤดูหีบปี 2565/66 ว่าจะอยู่ในเกณฑ์สูงระดับ 1,000 บาทต่อตันขึ้นไป