สวทช.เดินหน้านวัตกรรม “ถุงห่อทุเรียน”ส่งผลเพิ่มคุณภาพทุเรียนสู่ ทุเรียนพรีเมี่ยม

สำนักงานใหญ่เขตนวัตกรรมระเบียงเศรษฐกิจพิเศษภาคตะวันออก (EECi): โดย ศ. ดร.ชูกิจ ลิมปิจำนงค์ ผู้อำนวยการสำนักงานพัฒนาวิทยาศาสตร์และเทคโนโลยีแห่งชาติ (สวทช.)  นำนวัตกรรม “ถุงห่อทุเรียน Magik Growth” ส่งมอบและขยายผลการใช้งานสู่ภาคการเกษตรกรที่ปลูกทุเรียนในจังหวัดระยอง เพื่อเพิ่มคุณภาพผลผลิตทุเรียนสู่ทุเรียนระยองพรีเมี่ยม

โดยมีนางสาวพจณี อรรถโรจน์ภิญโญ ผู้เชี่ยวชาญพิเศษด้านนโยบายและแผน สำนักงานคณะกรรมการนโยบายเขตพัฒนาพิเศษภาคตะวันออก (สกพอ.) พร้อมด้วย นายประสานต์ พฤกษาชาติ รองนายกองค์การบริหารส่วนจังหวัดระยอง ร่วมส่งมอบถุงห่อทุเรียนให้กับเกษตรกรจังหวัดระยองเป็นจำนวน 10,000 ถุง เพื่อนำไปใช้งานห่อลูกทุเรียนในฤดูกาลนี้

DSC 4357 1536x1024 1
นวัตกรรม “ถุงห่อทุเรียน”

ศ. ดร.ชูกิจ ลิมปิจำนงค์ ผู้อำนวยการ สวทช. กล่าวว่า สวทช. มีการพัฒนางานวิจัยเทคโนโลยีนวัตกรรม ที่เกี่ยวข้องกับการผลิตทุเรียนคุณภาพดีที่หลากหลาย อาทิ การพัฒนาสายพันธุ์ทุเรียน การใช้สาร ชีวภัณฑ์ ระบบเทคโนโลยีอัจฉริยะในการควบคุมการให้น้ำตามสภาพอากาศ ความต้องการ การจัดการปุ๋ย หลัก-รอง-เสริม และนวัตกรรมถุงห่อทุเรียนเพื่อการลดใช้สารเคมี ฟิล์มบรรจุภัณฑ์ บรรจุภัณฑ์ย่อยสลายได้ปิดผนึกหน้าถาด บรรจุภัณฑ์ย่อยสลายได้ที่มีสมบัติกันกลิ่น เป็นต้น ทั้งนี้ในส่วนของการร่วมพัฒนา ทุเรียนพรีเมี่ยม เพื่อให้ทันช่วงระยะเวลาที่ผลผลิตจะออกเป็นจำนวนมากในฤดูกาลนี้ การขยายผลการใช้งานนวัตกรรมถุงห่อทุเรียน Magik Growth ซึ่งมีผลการวิจัยจากการทดลองต่อเนื่องทั้งในห้องปฏิบัติการและภาคสนาม ว่ามีผลในการลดใช้สารเคมีและเพิ่มคุณภาพผลผลิตทุเรียน น้ำหนักผลมีแนวโน้มเพิ่มขึ้น ขณะที่ความหนาของเปลือกมีแนวโน้มบางลง เหมาะกับการส่งออกทุเรียนในอนาคต ที่ต่อไปจะเป็นการส่งออกเนื้อทุเรียนแกะแช่แข็ง ไม่ส่งเป็นลูกทุเรียน นอกจากนั้นแล้วถุงห่อทุเรียน Magik Growth สามารถใช้งานได้ 3-5 ปี จึงทำให้เกษตรกรประหยัดค่าใช้จ่ายในปีต่อ ๆ ไป และลดของเสียได้”

DSC 4329 1536x1024 1
นวัตกรรม “ถุงห่อทุเรียน”

ทั้งนี้เขตนวัตกรรมระเบียงเศรษฐกิจพิเศษภาคตะวันออก EECi ซึ่งกำกับดูแลโดย สวทช. มีนโยบายในการผลักดันให้เกิดการพัฒนาของชุมชนโดยรอบพื้นที่ผ่านการนำเทคโนโลยีทางการเกษตรสมัยใหม่เข้ามาช่วยในการเพิ่มมูลค่าผลผลิตทางการเกษตร โดยได้เริ่มทำโครงการความร่วมมือระหว่างชุมชนและหน่วยงานสมาชิกของ EECi เพื่อกระตุ้นให้มีการจัดทำกิจกรรมที่อิงตามความต้องการของผู้ใช้เป็นหลัก นอกจากนี้เพื่อเป็นการเพิ่มศักยภาพทางการศึกษาและทักษะของนักเรียน นักศึกษาในชุมชนโดยรอบ สมาชิกของ EECi ยังได้ให้การสนับสนุนให้มีการจัดให้มีโปรแกรมการเรียนการสอนแบบ STEM (Science, Technology, Engineering and Mathematics) โดยได้มีการฝึกอบรมครูผู้สอนในเชิงเทคนิคสมัยใหม่ พร้อมเพิ่มกิจกรรมนอกหลักสูตรเสริมพิเศษให้กับนักเรียน

อีกทั้งยังมีแพลตฟอร์มพัฒนากำลังคนของ EECi หรือ EECi RUNs Academy (Re-skill Up-skill New Skill) เพื่อสนับสนุนอุตสาหกรรมเป้าหมายของประเทศ ถ่ายทอดเทคโนโลยีโดยผู้เชี่ยวชาญจากในและต่างประเทศ เชื่อมโยงกับโครงสร้างพื้นฐานสำคัญ เพื่อให้กำลังคนมีทักษะสามารถที่จำเป็นนำต่อยอดไปสู่การสร้างมูลค่าเพิ่มในเชิงเศรษฐกิจและสังคม

นางพจณี อรรถโรจน์ภิญโญ ผู้เชี่ยวชาญพิเศษด้านนโยบายและแผน สกพอ. กล่าวว่า กองทุนพัฒนาเขตพัฒนาพิเศษภาคตะวันออก ร่วมกับ สวทช. และองค์การบริหารส่วนจังหวัดระยอง ดำเนินการโครงการขยายผลการทดสอบถุงห่อทุเรียน รวมทั้งนวัตกรรมอื่นๆ ที่เหมาะสมกับบริบทสวนทุเรียน ให้กับเกษตรกรในจังหวัดระยอง ที่เป็นแหล่งปลูกทุเรียนที่มีคุณภาพ โดยเฉพาะอย่างยิ่ง เครือข่ายวิสาหกิจชุมชนแปลงใหญ่ไม้ผลจังหวัดระยอง ได้มีโอกาสทดลองใช้ นำตัวอย่างทุเรียนกลับมาทดสอบเปรียบเทียบผลผลิต และทำการประเมินความพึงพอใจจากเกษตรกร ซึ่งนอกจากจะเป็นหนึ่งแนวทางเป็นการเตรียมการแก้ปัญหาเรื่องการส่งออกแล้ว ยังเป็นหุ้นส่วนการร่วมทิศทางในการเป็นผู้ผลิตทุเรียนระยอง-ทุเรียนพรีเมี่ยม ด้วยวิทยาศาสตร์ เทคโนโลยี และนวัตกรรรม เพื่อให้การสนับสนุนและเสริมศักยภาพทางเทคโนโลยีการเกษตรในการยกระดับคุณภาพผลผลิตทุเรียนในพื้นที่จังหวัดระยอง ด้วยการเปิดโอกาสให้เกษตรกรชาวสวนทุเรียนเข้าถึงการใช้ประโยชน์ของเทคโนโลยี นวัตกรรม เพื่อเพิ่มคุณภาพผลผลิต ลดต้นทุน เพิ่มโอกาสและสนับสนุนการพัฒนาทุเรียนพรีเมี่ยม

นวัตกรรมถุงห่อทุเรียน  เป็นวัสดุเสริมการเพาะปลูกชนิดสปันบอนด์นอนวูเวน(spunbond nonwoven) ที่กลุ่มวิจัยเทคโนโลยีโพลิเมอร์ขั้นสูง ศูนย์เทคโนโลยีโลหะและวัสดุแห่งชาติ(เอ็มเทค) สวทช. คิดค้นสูตรโพลิเมอร์คอมพาวด์จากการเลือกใช้ชนิดของโพลิเมอร์ เม็ดสี และสารเติมแต่งต่างๆ เช่น สารป้องกันยูวี และดัดแปรเนื้อวัสดุให้มีสมบัติพิเศษต่างๆ ได้แก่ มีโครงสร้าง 3 มิติในลักษณะที่เส้นใยสานกันไปมา ทำให้มีรูพรุนและความหนาที่ถ่ายเทน้ำและอากาศได้ดี แต่ในขณะเดียวกันก็แข็งแรงพอที่จะนำกลับมาใช้งานซ้ำได้ คัดเลือกช่วงแสงที่พืชต้องการและใช้สีที่ไม่ดึงดูดแมลง อีกทั้งสามารถออกแบบให้มีลักษณะตามการใช้งานได้ ไม่ว่าจะเป็น ถุงห่อ ถุงปลูก หรือวัสดุคลุมดิน