เตือนเกษตรกรผู้ปลูกมันสำปะหลัง ระวัง โรครากหัวเน่าในมันสำปะหลัง เกิดจากเชื้อราไฟทอปธอรา (Phythopthora meadii) เป็นเชื้อราในดิน และเหง้ามันที่สามารถอยู่ได้ข้ามฤดู ซึ่งสามารถสร้างสปอร์ที่ว่ายน้ำได้ จึงแพร่ระบาดในหน้าฝนได้อย่างรวดเร็วมันสำปะหลังจะแสดงอาการตั้งแต่อายุ 3 เดือนขึ้นไป…โดยเชื้อจะเข้าสู่โคนต้นก่อน ทำให้เกิดอาการบวมพองและมีปุ่มรากที่โคนต้นเหนือผิวดิน จากนั้นเชื้อจะลามลงไปที่รากและก้านขั้วหัวมันส่วนอาการเหนือดินสังเกตได้จากใบเริ่มซีดเหลือง จากนั้นใบล่างเริ่มแสดงอาการเหี่ยวและแห้งคาต้น เมื่อถอนต้นรากและหัวเน่า แต่ลำต้นยังเป็นปกติ หากเกษตรกรตัดต้นไปขายเป็นท่อนพันธุ์ จะทำให้เชื้อสามารถแพร่ขยายได้ในวงกว้าง
วิธีแก้ปัญหา การนำท่อนพันธุ์ชุบด้วยสาร fosetyl aluminium ในอัตรา 50 กรัมต่อน้ำ 20 ลิตร นาน 10 นาที เพื่อกำจัดโรคที่ติดมากับท่อนพันธุ์ และใช้สาร fosetyl aluminium ในอัตรา 50 กรัมต่อน้ำ 20 ลิตร ฉีดพ่นต้นอายุ 3 เดือน ที่มีอาการใบเหลืองทุก 1 เดือน ติดต่อกัน 4 ครั้ง…สามารถลดจำนวนต้นเป็นโรคได้ 75%
ส่วนมาตรการป้องกัน…ควรปลูกพืชหมุนเวียนที่ไม่ใช่พืชอาศัยของเชื้อราไฟทอปธอรา เช่น ข้าวโพด อ้อย…หากต้องการปลูกมัน ควรปรับฤดูปลูกไปช่วงฤดูแล้ง เพื่อเก็บเกี่ยวได้ทันก่อนฝนตกชุก…หลังเก็บเกี่ยว เก็บเหง้า ตอ และต้นมันสำปะหลังออกจากแปลง และเผาเพื่อฆ่าเชื้อ ไถระเบิดดินดานเพื่อให้ดินระบายน้ำดี…ควรปลูกแบบยกร่องตามแนวลาดเอียง เพื่อให้น้ำไหลออกได้เร็ว ไม่ขังในช่วงฤดูฝน ใช้พันธุ์ทนทานต่อโรค ใช้ท่อนพันธุ์สะอาดจากแหล่งที่ไม่เป็นโรค หรือชุบท่อนพันธุ์ด้วยสาร fosetyl aluminium ก่อนปลูก สามารถแช่พร้อมกับสารป้องกันกำจัดเพลี้ยแป้งได้
ใช้ระยะปลูก 80×100 ซม. เพื่อให้ทรงพุ่มโปร่ง…ไม่ควรใช้ปุ๋ยคอกหรือปุ๋ยหมัก เพราะทำให้ดินสะสมความชื้นมากเอื้อต่อการเจริญของเชื้อรา และไม่ควรใส่ปุ๋ยไนโตรเจนมากเกินไป จะทำให้ต้นเป็นโรคได้ง่าย