ระวัง โรครากเน่า โคนเน่า และโรคผลเน่า (เชื้อรา Phytophthora palmivora) ในพริกไทย

สภาพอากาศในช่วงนี้มีฝนกระจายทุกพื้นที่ และฝนตกหนักบางแห่ง เตือนผู้ปลูกพริกไทย ในระยะ ทุกระยะการเจริญเติบโต รับมือโรครากเน่า โคนเน่า และโรคผลเน่า (เชื้อรา Phytophthora palmivora)

เริ่มแรกพบอาการใบเหี่ยว ต่อมาเถาจะเหี่ยว ใบเปลี่ยนเป็นสีเหลืองและร่วง จากนั้นปราง(กิ่งแขนง) เริ่มหลุดเป็นข้อๆ ตั้งแต่โคนต้นถึงยอด ขั้วกิ่งเป็นสีเหลืองและเปลี่ยนเป็นสีดำ หากดูบริเวณโคนต้นใกล้ผิวดิน จะพบแผลสีน้ำตาลเข้มหรือน้ำตาลดำ เมื่ออาการรุนแรงโคนต้นจะเน่า ท่อน้ำ ท่ออาหารถูกทำลายส่วนของรากเน่ามีสีดำ ทำให้ไม่สามารถลำเลียงน้ำและธาตุอาหารได้ดี ต้นทรุดโทรมและตายในที่สุด บางครั้งเชื้ออาจเข้าทำลายบนใบ พบลักษณะเป็นแผลฉ่ำน้ำมีสีน้ำตาลถึงดำ หากรุนแรงจะทำให้ใบไหม้และหลุดร่วง เรียกว่า โรคใบไหม้

%E0%B8%A3%E0%B8%B2%E0%B8%81
โรครากเน่า โคนเน่า ผลเน่าในพริกไทย

แนวทางป้องกัน/แก้ไข

๑. แปลงปลูกควรมีการระบายน้ำดี ไม่ควรมีน้ำท่วมขัง หากมีน้ำท่วมขังควรรีบระบายออก

๒. ปรับสภาพดินไม่ให้เป็นกรดจัด โดยใส่ปูนขาว หรือโดโลไมท์

๓. ปรับปรุงดิน โดยใส่ปุ๋ยคอก ปุ๋ยหมัก เพื่อให้ดินสามารถดูดซับน้ำและธาตุอาหารได้ดี และรากพืชสามารถพัฒนาและนำอาหารพืชไปใช้ได้ง่าย

๔. ควรเลือกส่วนขยายพันธุ์ และวัสดุเพาะชำ จากแหล่งที่ไม่มีการระบาดของโรค และไม่มีร่องรอยการติดเชื้อ

๕. ตัดแต่งกิ่งหรือแขนงบริเวณโคนต้นออกให้โปร่ง เพื่อให้อากาศถ่ายเทได้ดีขึ้น เป็นการลดความชื้น เพื่อป้องกันการระบาดของโรค

๖. เก็บใบกิ่งก้านที่ร่วงหล่นอยู่บริเวณโคนต้นออกไปเผาทำลายนอกแปลงปลูก เพื่อไม่ให้เป็นแหล่งสะสมของโรค

๗. ตรวจแปลงอย่างสม่ำเสมอ เมื่อพบพืชเริ่มแสดงอาการของโรค ใช้สารเมทาแลกซิล ๒๕% ดับเบิ้ลยูพี อัตรา ๓๐-๕๐ กรัมต่อน้ำ ๒๐ ลิตร หรือ ฟอสอีทิล-อะลูมิเนียม ๘๐% ดับเบิ้ลยูพี อัตรา ๓๐-๕๐ กรัมต่อน้ำ ๒๐ ลิตร พ่นให้ทั่วทั้งต้น และรดดินบริเวณหลุมปลูกและข้างเคียง ทุก ๗ วัน ควรหยุดใช้สารก่อนการเก็บเกี่ยว อย่างน้อย ๑๔ วัน

๘.หากพบอาการของโรคใบไหม้ให้ตัดใบที่แสดงอาการนำไปเผาทำลายนอกแปลงปลูกแล้วใช้สารตามข้อ๗.

๙. ต้นที่เป็นโรครุนแรงมากหรือตาย ควรขุดออกนำไปเผาทำลายนอกแปลงปลูก แล้วรดดินในหลุมปลูกและบริเวณข้างเคียงด้วยสารเมทาแลกซิล ๒๕% ดับเบิ้ลยูพี อัตรา ๓๐-๕๐ กรัมต่อน้ำ ๒๐ ลิตร หรือ ฟอสอีทิล-อะลูมิเนียม ๘๐% ดับเบิ้ลยูพี อัตรา ๓๐-๕๐ กรัมต่อน้ำ ๒๐ ลิตร ให้ทั่ว ตากดินไว้ระยะหนึ่งจึงปลูกทดแทน

๑๐. ไม่นำเครื่องมือทางการเกษตรที่ใช้กับต้นเป็นโรคไปใช้ต่อกับต้นปกติ และควรทำความสะอาดเครื่องมือก่อนนำไปใช้ใหม่ทุกครั้ง

๑๑. ควรระมัดระวังการให้น้ำ ไม่ให้น้ำไหลผ่านจากต้นที่เป็นโรคไปต้นปกติ

๑๒. ในแปลงที่มีการระบาดของโรค ควรเปลี่ยนไปปลูกพืชชนิดอื่นที่ไม่ใช่พืชอาศัยของเชื้อสาเหตุโรคหมุนเวียน เพื่อตัดวงจรของโรค