“กล้วยขี้ช้าง” ผลไม้ชื่อแปลก เอกลักษณ์เฉพาะถิ่นชาวบ้านปาแตรายอ ของดีที่รามัน ยะลา

สวนผลไม้เกษตรแบบผสมผสาน ของนายสาและ ดือราแม (เบาะลง) อายุ 65 ปี เจ้าของสวนผลไม้ หมู่ที่ 2 บ้านปาแตรายอ ต.เกะรอ อ.รามัน จ.ยะลา ได้ปลูกผลไม้หลากหลายชนิด ในพื้นที่ 5 ไร่ ทั้งทุเรียน ยางพารา และผลไม้ขึ้นชื่อที่ เป็นเอกลักษณ์ที่โดดเด่นของที่นี่ คือ กล้วยขี้ช้าง เป็นกล้วยพื้นถิ่นที่มีการปลูกแซมในสวน ให้ผลผลิตตลอดทั้งปี รสชาติ หอมหวาน อร่อย นิยมรับประทานสุก และนำมารับประทานกับข้าวเหนียวนึ่ง

%E0%B8%81%E0%B8%A5%E0%B9%89%E0%B8%A7%E0%B8%A2%E0%B8%82%E0%B8%B5%E0%B9%89
กล้วยขี้ช้าง

นายสาและ ดือราแม (เบาะลง) อายุ 65 ปี ได้เล่าให้ฟังว่า แรกเริ่มที่มาของกล้วย เกิดจากในพื้นที่บริเวณนี้ มีลักษณะเป็นที่ราบเชิงเขา อยู่ติดกับเขากูโต แนวเทือกเขาบูโด รอยต่อระหว่าง อ.กะพ้อ จ.ปัตตานี และ อ.รามัน จ.ยะลา ทอดยาวไปยัง อ.รือเสาะ จ.นราธิวาส ในสมัยก่อนชาวบ้านที่นี่ นิยมเลี้ยงช้าง ซึ่งจุดเริ่มต้น พบกล้วยงอกขึ้นมา บริเวณที่ชาวบ้านนำช้างไปผูกกับต้นไม้ จึงนำหน่อกล้วยมาปลูก จนเป็นที่มาของชื่อ กล้วยขี้ช้าง

11fbb59dd3fcceff9a2d1f10a3596e86 small
กล้วยขี้ช้าง

“กล้วยขี้ช้าง” มีผลขนาดเล็กกลมเหมือนไข่ไก่ มีขนาดเล็กกว่ากล้วยน้ำว้า ให้ผลเรียงติดชิดกัน ส่วนลำต้นกาบและใบจะออกสีน้ำตาลอมแดง 

ในหนึ่งเครือจะติดผล 8-10 หวี เมื่อสุกจะเป็นสีหลืองนวลทองทั้งหวี เอกลักษณ์ที่โดดเด่น คือ มีรสชาติอร่อยคล้ายกล้วยไข่ผสมกับกล้วยหอมทอง เนื้อแน่น ไม่มีเมล็ด ชาวบ้านนิยมรับประทานแบบสุกหรือนำมาทานกับข้าวเหนียวนึ่ง

นายลุมัน หะสีแม นักวิชาการส่งเสริมการเกษตร ประจำตำบลเกะรอ เปิดเผยว่า การส่งเสริมอนุรักษ์การปลูกกล้วยขี้ช้างของที่นี่ ทางเกษตรมีโครงการขยายเพิ่มพื้นที่ปลูกในพื้นที่ จำนวน 15 ไร่ โดยมีสมาชิกเกษตรกรเข้าร่วม 15 ราย มีการจัดการให้ความรู้ ส่งเสริมกระบวนการผลิต พร้อมทั้งให้ความรู้เกี่ยวกับโรค โดยเฉพาะโรคเหี่ยวในกล้วยหินที่กำลังระบาดในขณะนี้ นอกจากนี้ ทางหน่วยงานในสังกัดกระทรวงเกษตรจังหวัดยะลา เตรียมผลักดันให้เป็นพืชอัตลักษณ์เฉพาะถิ่น หรือ GI ในพื้นที่ พร้อมทั้งการจัดแสดงตามงานมหกรรมเกษตรต่างๆทั้งในระดับจังหวัดยะลา และในระดับอำเภอ เพื่อประชาสัมพันธ์ให้เป็นที่รู้จักมากขึ้น