รบ.ไม่หวั่น “โรคใบด่างมันสำปะหลัง” พัฒนาชุดตรวจแบบ ATK เดินหน้าแผนจัดการแบบครบวงจร

วันที่ 13 มิถุนายน 2565 นางสาวรัชดา ธนาดิเรก รองโฆษกประจำสำนักนายกรัฐมนตรี เปิดเผยถึงการดูแลเกษตรกรผู้ปลูก “มันสำปะหลัง” ซึ่งเป็นกลุ่มเกษตรกรที่มีจำนวนมากถึง 5.24 ครัวเรือน และเป็นพืชเศรษฐกิจของประเทศ มีการส่งออกมากเป็นอันดับสามของโลก สร้างรายได้เข้าประเทศ เฉลี่ยหนึ่งแสนล้านบาทต่อปี ปีที่แล้วมีมูลค่าการส่งออกสูงสุดในรอบ 14 ปี นับตั้งแต่ปี 2550 และ “ราคามันสำปะหลัง” เพิ่มสูงกว่าราคาประกันรายได้ที่ 2.50บาท/ก.ก. ล่าสุดขยับขึ้นไปสูงถึง 2.70 และ 2.92 บาท/ก.ก ทั้งนี้ ควบคู่ไปกับโครงการประกันรายได้

CMV4 1 840x420 1
โรคใบด่างมันสำปะหลัง

รัฐบาลยังได้เห็นชอบแผนการจัดการกับ “โรคใบด่าง” ระยะ 5 ปี(2566-2570)ต่อจากแผนเดิม โรคนี้เข้าสู่ประเทศไทยเมื่อปี 2561 และได้ก่อความเสียหายให้แก่เกษตรกรและ “อุตสาหกรรมแปรรูปมันสำปะหลัง” เป็นอย่างมาก

ขณะนี้สำนักงานพัฒนาวิทยาศาสตร์และเทคโนโลยีแห่งชาติ (สวทช.) ได้พัฒนาชุดตรวจแบบรวดเร็วคล้ายกับการตรวจ ATK โดยใช้กับการตรวจวินิจฉัยโรคใบด่างมันสำปะหลัง สามารถพกพาไปใช้ในภาคสนาม โดยไม่ต้องเก็บตัวอย่างส่งมาตรวจยังห้องปฏิบัติการทราบผลได้ภายใน 15 นาที

นางสาวรัชดา กล่าวว่า รัฐบาลยังคงให้ความสำคัญกับการจัดการ “โรคใบด่าง”ทั้งระบบแบบครบวงจร โดยแผนการจัดการกับโรคใบด่างระยะ 5 ปี ประกอบด้วย 6 มาตรการ คือ 1)การสร้างการรับรู้เรื่องโรคใบด่าง 2)เฝ้าระวังและป้องกัน 3)ควบคุมการระบาด 4)ให้ความช่วยเหลือ 5)การทำวิจัยพัฒนา และ 6)มาตรการติดตามประเมินผล

สำหรับการวิจัยและพัฒนา ทาง สวทช. ได้พัฒนาชุดตรวจ “โรคใบด่าง”อย่างรวดเร็ว สามารถทำได้ในทุกขั้นตอนของการผลิตและเพาะปลูกมันสำปะหลัง เริ่มตั้งแต่การตรวจแปลงผลิตต้นพันธุ์สะอาดก่อนการเก็บเกี่ยว การตรวจในส่วนขยายพันธุ์ เช่น mini-stem cutting หรือ tissue culture

นอกจากนี้ยังใช้ในการติดตามเฝ้าระวังการแพร่ระบาดของโรคหลังการเพาะปลูกเพื่อจัดการและควบคุมโรคได้อย่างมีประสิทธิภาพและทันท่วงที และขณะนี้อยู่ระหว่างการถ่ายทอดเทคโนโลยีให้กับบริษัทเอกชน เพื่อช่วยในการตรวจคัดกรองท่อนพันธุ์มันสำปะหลังปลอดโรคก่อนส่งมอบให้เกษตรกร ซึ่งเป็นการลดความเสี่ยงในการนำท่อนพันธุ์ที่เป็นโรคไปปลูกต่อ นับเป็นขั้นตอนสำคัญที่ช่วยป้องกันการแพร่ระบาด

ในส่วนการควบคุมโรค กระทรวงเกษตรและสหกรณ์ได้ดำเนินโครงการเพิ่มประสิทธิภาพการควบคุม “โรคใบด่าง “ซึ่งนับตั้งแต่ปี ธ.ค.2563-มี.ค 65 สามารถกำจัดต้นมันสำปะหลังที่เป็นโรคในพื้นที่ระบาด 6.5 หมื่นไร่ พร้อมจ่ายค่าชดเชยการทำลายต้นเป็นโรคให้กับเกษตรกรเจ้าของแปลง 5,249 ราย มีการจัดส่งท่อนพันธุ์สะอาดและทนทานต่อโรคใบด่างถึงมือเกษตรกรแล้วกว่า 25 ล้านลำ ครบถ้วนตามความต้องการของเกษตรกร

ผลสำเร็จจากการแก้ไขปัญหาโรคใบด่าง ส่งผลให้มันสำปะหลังที่มีพื้นที่ปลูกรวมทั้งประเทศ 9.4 ล้านไร่ ยังคงเป็นพืชเศรษฐกิจสำคัญ สร้างรายได้ให้กับเกษตรกรและประเทศไทย ซึ่งในปี2564 มีการส่งออกผลิตภัณฑ์มันสำปะหลังปริมาณสูงถึง 10.38 ล้านตัน มูลค่า 1.23 แสนล้านบาท ปริมาณและมูลค่าเพิ่มขึ้น 45% และ 48% เมื่อเทียบกับช่วงเดียวกันของปีก่อนโดยมูลค่าการส่งออกสูงสุดในรอบ 14 ปี นับตั้งแต่ปี 2550

มากไปกว่านั้นรัฐบาลมีนโยบายส่งเสริม “อุตสาหกรรมมันสำปะหลัง” ด้วยเศรษฐกิจชีวภาพ เศรษฐกิจหมุนเวียน และเศรษฐกิจสีเขียว (BCG Model : Bio – Circular – Green Economy) ที่ครอบคลุมอุตสาหกรรมแปรรูป (มันเส้น มันอัดเม็ด แป้งดิบและแป้งดัดแปร) และอุตสาหกรรมต่อเนื่อง (สารให้ความหวาน แอลกอฮอล์ กรดอินทรีย์ กรดอะมิโน กระดาษและสิ่งทอเป็นต้น) ซึ่งเป็นการเพิ่มความต้องการใช้มันสำปะหลังอย่างมาก

ทั้งนี้ประมาณ 70% ของผลผลิตจะถูกใช้ในการแปรรูปเพื่อส่งออก ส่วนที่เหลือใช้ในการบริโภคและเป็นวัตถุดิบในอุตสาหกรรมต่อเนื่องในประเทศ ส่งผลให้เกษตรกรมีรายได้เพิ่มมากขึ้นอย่างแน่นอน” รองโฆษกฯ กล่าว