“ลุงริน” ชาวนาปราดเปรื่อง สุราษฎร์ธานี ยกระดับคุณภาพชีวิต ต่อยอดผลผลิตข้าว

โครงการพัฒนาเกษตรกรปราดเปรื่อง (Smart Farmer) เป็นหนึ่งในนโยบายของกระทรวงเกษตรและสหกรณ์ มุ่งพัฒนาคุณภาพชีวิตของเกษตรกรให้มีความเป็นอยู่ที่ดีขึ้นและเกิดความยั่งยืนในอาชีพเกษตรกรรม “ศูนย์เมล็ดพันธุ์ข้าวสุราษฎร์ธานี กรมการข้าว” จึงได้ดำเนินการพัฒนาต่อยอดอาชีพการทำนาช่วยเหลือเกษตรกร ให้สามารถพึ่งพาตนเองได้ เช่น “คุณลุงวาริน” เกษตรกรปราดเปรื่อง ผู้เชี่ยวชาญทางด้านการรวบรวม วางแผน ผลผลิต อย่างมีประสิทธิภาพ จนสามารถยกระดับคุณภาพชีวิตตนเอง

a6735a7fb8475aca4deaeb59e9c0e5163dacb8d7570f9f8ceefeca27e74ae806
วาริน สังข์ปล้อง

นายวาริน สังข์ปล้อง เกษตรกรปราดเปรื่อง ผู้ผลิตข้าว ตำบลเลม็ด อำเภอไชยา จังหวัดสุราษฎร์ธานี กล่าวว่า เดิมเริ่มสานต่ออาชีพทำนาจากทางบ้าน เมื่อปี 2520 บนพื้นที่ 20 ไร่ ซึ่งปลูกพันธุ์ข้าวหอมไชยา เป็นหลัก แล้วขยายมาปลูกข้าวไรซ์เบอรี่ และ ข้าวหอมมะลิ 105 ตามลำดับ เมื่อช่วงปี พ.ศ.2554 เนื่องจากมองเห็นว่า ข้าวไรซ์เบอรี่เป็นที่ต้องการของตลาด และผู้บริโภค ที่เริ่มหันมาใส่ใจสุขภาพมากยิ่งขึ้น จึงศึกษาหาข้อมูลการปลูกข้าวไรซ์เบอรี่ ตลอดจนลงมือปลูกอย่างใส่ใจ จนสามารถสร้างแบรนด์สินค้าข้าวบรรจุถุง “ตราลุงริน” ให้กับตนเองได้  

กว่า 20 ปี จากอดีตการทำนาที่ผ่านมา เคยประสบปัญหากับสภาวะข้าวราคาตกต่ำ จากการผลิตข้าว จำหน่ายให้กับพ่อค้าคนกลาง ซึ่งไม่สามารถกำหนดราคาขาย ได้กำไรน้อย จึงตัดสินใจ วางแผนผลิตข้าวเพื่อจำหน่ายด้วยตนเอง จึงส่งผลให้รายได้เพิ่มขึ้น ต่างจากการจำหน่ายให้กับพ่อค้าคนกลาง จากนั้นจึงทำมาเรื่อย ๆ เป็นระยะเวลานานกว่า 6 ปี เป็นปราชญ์ตัวอย่าง ในการปฏิบัติให้กับกลุ่มเกษตรกรในพื้นที่ ซึ่งชาวบ้านได้เล็งเห็นความสำคัญ ผลสำเร็จจากการพึ่งพาตนเองได้ของลุงริน ชาวบ้านจึงเกิดการรวมกลุ่มสมาชิกเกษตรกรผู้ผลิตข้าวจำนวนกว่า 20 ราย มาร่วมผลิตข้าวให้กับลุงริน

โดยลุงริน มีหน้าที่นำเมล็ดพันธุ์ข้าว แต่ละสายพันธุ์แจกจ่ายให้กับสมาชิก เพื่อทำการปลูก เช่น ข้าวไรซ์เบอร์รี่ ข้าวกข43 ข้าวหอมมะลิ ฯ และระบบภายในกลุ่ม ได้มีข้อตกลงการจำหน่ายที่เป็นธรรม ให้กับสมาชิกภายในกลุ่มผู้ผลิต โดยนำมาจำหน่ายให้กับลุงริน สามารถกำหนดราคาซื้อเท่าไหร่ก็ได้ เพื่อนำผลผลิตของกลุ่ม สู่การแปรรูปข้าวสารจำหน่ายต่อไป ซึ่งข้าวทุ่งไชยาปลูกได้เพียง ปีละ 2 ครั้ง ช่วงเดือน พฤษภาคม-มิถุนายน และเก็บเกี่ยว ช่วงเดือน กันยายน-ตุลาคม หลังจากนั้น พักนาทิ้งไว้ ระยะ 3 เดือน เพื่อป้องกันโรคแมลงต่างๆ และเริ่มทำต่อ ในช่วงเดือนพฤศจิกายน-เมษายน เน้นการแยกประเภทการปลูกข้าวให้เป็นโซน ซึ่งสมาชิกภายในกลุ่ม ต้องมีการวางแผนในช่วงการเก็บเกี่ยวที่แตกต่างกัน แยกแยะตามสายพันธุ์ เพื่อให้ได้รับผลผลิตที่เท่าเทียมกัน อีกทั้งยังได้รับการส่งเสริม “จากศูนย์เมล็ดพันธุ์ข้าวสุราษฎร์ธานี” เป็นพี่เลี้ยงคอยให้คำแนะนำอย่างใกล้ชิด เป็นอย่างดี 

ด้าน นายสันติภาพ ทองอุ่น หัวหน้ากลุ่มถ่ายทอดวิทยาการผลิตเมล็ดพันธุ์ดี ศูนย์เมล็ดพันธุ์ข้าว สุราษฎร์ธานี กล่าวว่า ลุงวาริน ได้ผลิตข้าว และเสริมสร้างพัฒนาผลผลิตข้าว ต่อยอดด้านการตลาดอย่างดีเยี่ยม ซึ่งในอดีตจนถึงปัจจุบันได้มีการพัฒนามากขึ้น ไม่ว่าจะเป็นการใช้เทคโนโลยีต่างๆ ใช้สื่อออนไลน์ ใช้นวัตกรรม มาช่วยขับเคลื่อนเพื่อยกระดับการผลิตข้าวของตนเอง ให้ออกไปสู่ตลาดอย่างกว้างขวางมากยิ่งขึ้น ส่งผลให้ปัจจุบันชีวิตของลุงรินและสมาชิก มีความกินดี อยู่ดี สามารถพึ่งพาตนเองได้

ผู้สื่อข่าวรายงานว่า Smart Farmer คือเกษตรกรที่มีการประยุกต์ใช้เทคโนโลยีและระบบดิจิทัล นวัตกรรม รวมถึงข้อมูล  หรือแนวคิดทางธุรกิจแบบใหม่ เพื่อผลักดันประสิทธิภาพการผลิตของตัวเองให้ได้มากที่สุด ภายใต้งบประมาณที่เหมาะสมที่สุด

หลายคนเข้าใจว่าการทำงานของ Smart Farmer นั้นไกลตัว แต่ในความเป็นจริงแล้วไม่ได้เป็นเช่นนั้น การใช้อุปกรณ์สมาร์ทโฟนและแอปพลิเคชันต่าง ๆ เพื่อเก็บข้อมูลการเกษตร การผลิตและการคำนวณหาการเพาะปลูกที่เหมาะสมที่สุด ก็เป็นขั้นแรกของ Smart Farmer แล้ว

แนวคิดของ Smart Farmer เพิ่มความเป็นไปได้ยิ่งขึ้นอีก เนื่องจากการพัฒนาของเทคโนโลยีและระบบดิจิทัล ที่ทำให้อุปกรณ์ต่าง ๆ ที่เกี่ยวข้อง ไม่ว่าจะเป็นอุปกรณ์ IoT การใช้งาน Big Data การใช้งานโดรน หรือการใช้หุ่นยนต์รูปแบบต่าง ๆ ร่วมกับการเกษตรก็สามารถหาได้ง่ายขึ้น ต้นทุนลดต่ำลง 

การทำการเกษตรด้วยแนวคิด Smart Farmer นั้นครอบคลุมตั้งแต่การวางแผนก่อนการหว่านเมล็ด จนถึงการขายสินค้า ทำให้เกษตรกรสามารถลดภาระของตัวเองได้ ด้วยการลงทุนในระบบที่ดีในระยะยาว