กรมส่งเสริมการเกษตรหนุนชาวสวนทุเรียนใช้ภูมิปัญญา-เทคโนโลยีจัดการสวนคว้ามาตรฐาน GAP-GI

นายประหยัด ไชยสิงห์ เกษตรอำเภอบางกรวย จังหวัดนนทบุรี กล่าวถึงแนวทางการส่งเสริมกลุ่มแปลงใหญ่ทุเรียนบางกรวย จังหวัดนนทบุรี ใช้ภูมิปัญญาดั้งเดิมและเทคโนโลยีสมัยใหม่เพื่อพัฒนาคุณภาพและมาตรฐานสินค้าว่า กรมส่งเสริมการเกษตร โดยเกษตรอำเภอบางกรวย และเกษตรจังหวัดนนทบุรี ได้แนะนำให้เกษตรกรใช้เทคโนโลยีและภูมิปัญญาดั้งเดิมเข้าช่วยในการบริหารจัดการสวน ประกอบด้วย

%E0%B8%97%E0%B8%B8%E0%B9%80%E0%B8%A3%E0%B8%B5%E0%B8%A2%E0%B8%99 6 1
ประหยัด ไชยสิงห์ เกษตรอำเภอบางกรวย

1. เครื่องวัดค่าน้ำเค็ม เพื่อป้องกันไม่ให้น้ำเค็มจากแม่น้ำเจ้าพระยาไหลเข้าสวนมากเกินไป ซึ่งอาจส่งผลเสียต่อต้นทุเรียนได้ โดยเกษตรกรได้ตอบรับต่อเครื่องวัดค่าน้ำเค็มเป็นอย่างดี เพราะสมาชิก และอาสาสมัครเกษตร มีการส่งค่าวัดในแต่ละวันเข้าไลน์กลุ่ม ทำให้สมาชิกได้รับรู้ระดับความเค็มของน้ำในช่วงนั้น เพื่อวางแผนบริหารจัดการนำน้ำเข้าสวนได้อย่างถูกต้อง แตกต่างจากสมัยก่อนที่นิยมเปิดน้ำเข้าสวนโดยตรง ทำให้ต้นทุเรียนได้รับความเค็มเกินค่ามาตรฐาน กระทบต่อการเจริญเติบโตของทุเรียน และพืชอื่น ๆ จำนวนมาก

%E0%B8%97%E0%B8%B8%E0%B9%80%E0%B8%A3%E0%B8%B5%E0%B8%A2%E0%B8%99 7
หนุนชาวสวนทุเรียนใช้ภูมิปัญญา-เทคโนโลยีจัดการสวน

2. การให้น้ำด้วยระบบสปริงเกอร์ และตั้งเวลาเปิด ปิด ทำให้ง่ายต่อการบริหารจัดการน้ำให้ทั่วถึง ลดเวลา และการใช้แรงงานคน ปัจจุบันชาวสวนส่วนใหญ่เป็นผู้สูงอายุ การให้น้ำแบบเดิม ไม่ว่าจะเป็นการตักน้ำรด หรือใช้สายยางฉีดรด ไม่ได้รับความนิยมอีกแล้วเพราะเหน็ดเหนื่อย เมื่อกรมส่งเสริมการเกษตร ได้เข้าไปแนะนำให้ชาวสวนใช้ระบบสปริงเกอร์ ที่มีทามเมอร์ตั้งเวลาเปิดปิด จึงได้รับการตอบรับจากเกษตรกรเป็นอย่างดี

%E0%B8%97%E0%B8%B8%E0%B9%80%E0%B8%A3%E0%B8%B5%E0%B8%A2%E0%B8%99 1 1
คว้ามาตรฐาน GAP-GI

3.การใช้สารชีวภัณฑ์ (ผลิตภัณฑ์ป้องกันกำจัดศัตรูพืชที่ผลิตหรือพัฒนาจากสิ่งมีชีวิต) เพื่อป้องกันแมลงศัตรูพืช หรือเชื้อราต่าง ๆ  เช่น สารไตรโคเดอร์ม่า ป้องกันโรครากเน่า หรือ โคนเน่า โดยเจ้าหน้าที่ได้นำหัวเชื้อมาแจกจ่าย และถ่ายทอดองค์ความรู้ให้เกษตรกรสามารถขยายเชื้อได้เองเพื่อลดต้นทุนการผลิต ไม่ต้องใช้สารเคมีเหมือนเมื่อก่อน เพื่อให้สินค้าหรือผลผลิตปลอดภัยอย่างแท้จริง ซึ่งปัจจุบันเกษตรกรส่วนใหญ่หันมาใช้สารชีวภัณฑ์กันจำนวนมาก

4.การปลูกต้นทองหลางเป็นพืชพี่เลี้ยง ซึ่งเกษตรกรผู้ปลูกทุเรียนในอำเภอบางกรวย เกือบทั้งหมด ใช้ภูมิปัญญาดั้งเดิมจากบรรพบุรุษในการช่วยทุเรียน หรือ พืชอื่น ๆ เจริญเติบโตได้ดี ด้วยการปลูกต้นทองหลางในแปลงทุเรียนและพืชอื่น ๆ เพื่อให้พืชได้พึ่งพาอาศัยและเกื้อกูลกันตามธรรมชาติ โดยเมื่อเศษใบและดอกของต้นทองหลางร่วงหล่นลงร่องสวน จะเกิดการทับถมกันจนเป็นธาตุอาหาร และรากของต้นทองหลางชอนไชไปตามพื้นดิน ทำให้เพิ่มไนโตรเจนและออกซิเจนในดินจนต้นทุเรียนเจริญเติบโตได้ดีแม้สภาพดินส่วนใหญ่จะเป็นดินเหนียวก็ตาม โดยเฉพาะสวนคุณแผ่นดิน ได้สืบทอดภูมิปัญญานี้มาตั้งแต่การเริ่มทำสวน ปัจจุบันกลายเป็นสวนผสมผสาน มีพืชและผลไม้หลายสายพันธุ์จำนวนมากที่พึ่งพาอาศัยกัน

เกษตรอำเภอบางกรวย กล่าวอีกว่า ส่วนจุดเด่นของเกษตรกรที่ทำสวนจนได้รับรางวัลและได้รับการรับรองมาตรฐานต่าง ๆ มากมายนั้น เป็นเพราะมีการให้ความรู้ในเรื่องการผลิตอย่างปลอดภัย โดยสำนักงานเกษตรจังหวัดนนทบุรี ได้คัดสรรเกษตรกรเข้าร่วมโครงการเกี่ยวกับการผลิตอย่างปลอดภัยเพื่อทำสวนให้เป็นไปตามกำหนดมาตรฐานของกรมวิชาการเกษตร โดยมีเกษตรอำเภอ คอยเป็นพี่เลี้ยงแนะนำว่าสวนไหนควรปรับปรุงหรือเพิ่มเติมอะไร จากนั้นจะเข้าสู่คณะกรรมการพิจารณาระดับจังหวัดที่ประกอบไปด้วยหน่วยงานต่าง ๆ เพื่อให้การรับรองสวนเบื้องต้น จากนั้นกรมวิชาการเกษตร จะส่งเจ้าหน้าที่มาประเมินและให้การรับรองมาตรฐาน GAP(Good Agricultural Practice) ปัจจุบันสมาชิกแปลงใหญ่บางกรวย มีจำนวน 120 ราย พื้นที่ปลูกประมาณ 260 ไร่ ได้รับมาตรฐาน GAP จำนวน 26 ราย โดยจุดเด่นของเกษตรกรทั้ง 26 ราย ได้เน้นผลิตทุเรียนหรือผลไม้อื่น ๆ อย่างประณีตมาเป็นระยะเวลายาวนาน จนมีผู้บริโภคให้ความเชื่อมั่นจำนวนมาก

ส่วนมาตรฐานสิ่งบ่งชี้ทางภูมิศาสตร์ หรือ GI(Geographical Indication)ของกรมทรัพย์สินทางปัญญานั้น ทางจังหวัดนนทบุรีกำหนดให้ทุเรียนเป็นสินค้าGI ส่วนการตรวจรับรองมีคณะกรรมการระดับจังหวัดเป็นผู้ตรวจรับรอง ปัจจุบันสวนทุเรียนในอำเภอบางกรวย ที่ได้รับการรับรองเป็นสินค้าGIแล้วกว่า 10 สวน นอกจากนี้ยังมีการรับรองคุณภาพจากจังหวัดนนทบุรี หรือนนทบุรีการันตี อีก 3 ราย โดยเกษตรกรที่จะได้รับการรับรองดังกล่าว ต้องได้มาตรฐานทั้ง GAP และGI ซึ่งปีนี้จะมีการทยอยประกาศเพิ่มเติม เพื่อเป็นการยืนยันว่าทุเรียนนนทบุรี หรือ ผลไม้อื่น ๆ มีคุณภาพและได้มาตรฐานอย่างแท้จริง เพื่อสร้างความมั่นใจให้กับผู้บริโภค

%E0%B8%97%E0%B8%B8%E0%B9%80%E0%B8%A3%E0%B8%B5%E0%B8%A2%E0%B8%99 3 2
นายชคดี นนทสวัสดิ์ศรี เจ้าของสวนคุณแผ่นดิน

ด้านนายชคดี นนทสวัสดิ์ศรี เจ้าของสวนคุณแผ่นดิน อำเภอบางกรวย จังหวัดนนทบุรี กล่าวว่า ปลูกผลไม้หลายอย่าง และทุเรียนหลากหลายสายพันธุ์ทั้งพันธุ์พื้นเมือง และพันธุ์เศรษฐกิจ เช่น หมอนทอง และก้านยาว ปัจจุบันมีพื้นที่ปลูก 10 ไร่ แต่เสียหายทั้งหมดเมื่อน้ำท่วมปี 2554 จึงได้เริ่มใหม่ โดยใช้ภูมิปัญญาหรือความรู้ดั้งเดิมผสมกับเทคโนโลยีสมัยใหม่ตามการแนะนำของกรมส่งเสริมการเกษตร โดยเฉพาะการปลูกพืชแบบผสมผสาน และใช้สารชีวภัณฑ์ต่าง ๆ ในการกำจัดแมลงและศัตรูพืชอื่น ๆ เพื่อลดการใช้ปุ๋ยเคมี ซึ่งก่อนหน้านี้เกษตรกรส่วนใหญ่ยังนิยมทำสวนแบบเก่า นั่นคือการใช้สารเคมี แต่เมื่อมีองค์ความรู้ใหม่ ๆ จึงได้เลิกใช้ปุ๋ยเคมีอย่างเด็ดขาด เพราะส่งผลเสียต่อทุเรียนและพืชอื่น ๆ เพราะพืชบางชนิดไม่ชอบสารเคมี จึงหันมาทำเกษตรแบบปลอดภัยและผลิตแต่สินค้ามีคุณภาพ โดยเฉพาะทุเรียน ที่รับประกันคุณภาพสินค้าให้ลูกค้าทุกราย หากไม่ชอบ ไม่อร่อย หรือ เสียหาย พร้อมคืนเงินเต็มจำนวน หรือเปลี่ยนลูกใหม่ให้

%E0%B8%97%E0%B8%B8%E0%B9%80%E0%B8%A3%E0%B8%B5%E0%B8%A2%E0%B8%99 5 1
สวนคุณแผ่นดิน

สินค้าในสวนคุณแผ่นดิน โดยเฉพาะทุเรียนได้รับมาตรฐานหรือรางวัลเกือบทั้งหมด ไม่ว่าจะเป็นการรับรองมาตรฐานสินค้าเกษตรและอาหาร หรือ Q มาตรฐาน GAP ส่งบ่งชี้ทางภูมิศาสตร์ หรือ GI และรางวัลสูงสุดคือนนทบุรีการันตี โดยสวนคุณแผ่นดินเป็นสวนนำร่อง ขาดแต่เพียง มาตรฐานออร์แกนิคไทยแลนด์ ที่อยู่ระหว่างดำเนินการ ดังนั้นจึงมั่นใจได้ว่าสินค้าของเรามีมาตรฐานและคุณภาพเพียงพอ เป็นเกษตรปลอดภัยอย่างแท้จริง และนี่คือจุดแข็งและจุดเด่นของทุเรียนนนทบุรีที่ทำให้ผู้บริโภคยอมรับมาอย่างยาวนาน

“ส่วนการทำการตลาดมีทั้งจัดบูธจำหน่ายสินค้า และขายในออนไลน์ โดยเปิดให้ลูกค้าจอง และมีการสื่อสารกับลูกค้าเป็นระยะจนกว่าผลไม้ หรือ ทุเรียน จะถึงฤดูเก็บเกี่ยว และถ้าหากมีภัยธรรมชาติ เช่น มีฝนตก ก็จะแจ้งลูกค้าเพื่อเลื่อนการเก็บผลผลิตออกไป เพื่อให้สินค้ามีความสมบูรณ์และพร้อมจำหน่ายมากที่สุด และด้วยการเกษตรประณีตแบบนี้ จึงทำให้ทุเรียนเมืองนนท์ มีราคาแพงกว่าทุเรียนที่อื่น แต่ราคาที่จ่ายต้องคุ้มค่ากับคุณภาพที่ให้ไป”นายชคดี กล่าว