ยกระดับ “ผ้าทอฝ้ายสามสี”ด้วยนวัตกรรม

“เราคือผู้ปลูกฝ้าย ทอผ้าฝ้าย และจัดจำหน่ายด้วยภูมิปัญญาของคนในชุมชนก้อ ทุกกระบวนการผลิตเราใส่ใจ เพื่อให้ผู้บริโภคได้รับสิ่งที่มีคุณค่าและผ้าฝ้ายทอมือที่ดีที่สุด”

วิสาหกิจชุมชนกลุ่มพัฒนาอาชีพผู้สูงอายุบ้านก้อทุ่ง ต.ก้อ อ.ลี้ .ลำพูน ก่อตั้งขึ้นในปี พ.ศ.2557 จากแรงบันดาลใจของ กัลยาณี รุ่นหนุ่ม หรือ ป้าติ๋ม อดีตครูที่ตั้งใจกลับมาพัฒนาบ้านเกิด เมื่อเห็นผู้สูงอายุในหมู่บ้านเพิ่มจำนวนมากขึ้นและไม่มีอาชีพ ป้าติ๋ม จึงชักชวนผู้สูงอายุมาทอผ้า โดยใช้โรงเรียนร้างที่ต่อมาชุมชนได้ร่วมกันทอดผ้าป่าหาทุนซ่อมแซมปรับปรุง จนกลายเป็นพื้นที่ใช้สอยร่วมกันของชุมชนและเป็นแหล่งทอผ้าของกลุ่มฯ

“กลุ่มฯ เริ่มต้นทอผ้าจากฝ้ายย้อมสีเคมี ก็ทำไปแบบสะเปะสะปะ เราก็สู้แหล่งผลิตใหญ่ ๆ ไม่ได้ ป้าก็เริ่มคิดหาวิธีจะทำยังไงให้กลุ่มฯ อยู่ได้และพึ่งตัวเองได้ ก็ลองไปเข้าอบรมกับหน่วยงานต่าง ๆ หลายครั้ง เอาความรู้จากหลาย ๆ ที่มาปรับใช้ และคิดสร้างจุดแข็งให้สินค้าของเราเพื่อให้แข่งกับตลาดได้”

pic kortung 6 e1655434744981 1024x686 1
ยกระดับผ้าทอฝ้ายสามสี

ป้าติ๋ม นึกย้อนถึงสมัยรุ่นผู้เฒ่าผู้แก่ปลูกฝ้ายและทอผ้าใส่เอง องค์ความรู้ปลูกฝ้ายและปั่นฝ้ายของชุมชนยังพอหลงเหลือสืบทอดกันมาบ้างจึงชักชวนสมาชิกกลุ่มฯปลูกฝ้ายกันอีกครั้งเป็นโอกาสให้พลิกฟื้นและต่อยอดอนุรักษ์ภูมิปัญญาท้องถิ่น

โดยเริ่มจากปลูกฝ้ายพันธุ์ตากฟ้านครสวรรค์ (พันธุ์ตากฟ้า 65–5) ฝ้ายสามสี (เขียว ขาว น้ำตาล) แต่เมื่อนำฝ้ายมาทอผ้ากลับพบปัญหาผ้าฝ้ายแข็งกระด้าง มีกลิ่นอับ เสื้อผ้าที่ทอจากฝ้ายก็หนา สวมใส่ไม่สบายตัว จึงไม่ตอบโจทย์ลูกค้า และเป็นปัญหาด้านการตลาดของกลุ่มฯ อีกครั้ง ป้าติ๋ม ตระเวนหาองค์ความรู้จากหน่วยงานต่าง ๆ รวมถึง สวทช. เพื่อหาผู้เชี่ยวชาญช่วยแก้ปัญหาดังกล่าว

เจ้าหน้าที่ สวทช. ได้พาป้าและสมาชิกไปเรียนรู้ ศึกษาดูงานและแลกเปลี่ยนประสบการณ์กับกลุ่มผู้ทอผ้าทั่วประเทศ เราได้ไปอบรมฯ ออกแบบตัดเย็บผ้าให้ทันสมัย เรียนรู้การย้อมสีธรรมชาติจากพืชในท้องถิ่นการปั่นเส้นฝ้ายผสมสี และการใช้นวัตกรรมเอนไซม์เอ็นอีซยกระดับผ้าฝ้ายของกลุ่มจากที่ผ้าฝ้ายสีมอ ๆ ตุ่น ๆ กลับมาขาวสะอาดและนุ่ม

ที่สำคัญ สวทช.ผลักดันให้กลุ่มฯ เป็นศูนย์เรียนรู้เรื่องฝ้ายธรรมชาติทำให้การรวมกลุ่มเป็นรูปเป็นร่างมากขึ้นสมาชิกกลุ่มฯ มีอาชีพ และฝ้ายสามสีบ้านก้อทุ่งเป็นที่รู้จักและได้รับโอกาสนำเสนอผลงานเป็นตัวแทนของจังหวัดในหลายเวที และได้รับการสนับสนุนจากหลากหลายโครงการ หลายหน่วยงานทั้งในและนอกพื้นที่ ถือเป็นจุดเปลี่ยนจากทอฝ้ายเคมีมาเป็นฝ้ายธรรมชาติ เพื่อต้องการพัฒนาและยกระดับศักยภาพของกลุ่มฯ เป็นแหล่งผลิตผ้าทอจากต้นน้ำ กลางน้ำและปลายน้ำ เป็นมิตรต่อสิ่งแวดล้อม สร้างความปลอดภัยต่อผู้สวมใส่

ตั้งแต่กระบวนการปลูกฝ้ายแบบอินทรีย์ การกำจัดวัชพืช (ดายหญ้าด้วยมือและใช้พลาสติกคลุมดิน) ทอฝ้ายด้วยมือตามภูมิปัญญาดั้งเดิมของชาวบ้านก้อทุ่ง โดยใช้ฝ้ายธรรมชาติปราศจากการย้อมสี เพื่อลดมลภาวะที่เกิดจากสารเคมีและน้ำเสียจากการฟอกย้อมสี ให้ผู้สวมใส่ใด้ใกล้ชิดธรรมชาติแบบแท้จริง การปรับเปลี่ยนเหล่านี้กลายเป็นต้นแบบให้เครือข่ายและหน่วยงานต่าง ๆ เข้ามาศึกษาดูงานและนำไปต่อยอด

“ก่อนสมาชิกจะทำกิจกรรมใดๆ เกี่ยวกับผ้า ทุกเช้าพวกเราจะนั่งวิปัสสนาฝึกสติให้มีสมาธิทำงาน เพราะผ้าเป็นงานประณีตและการมาอยู่รวมกันจะฝึกให้หลายคนเกิดความอดทนต่ออุปสรรคทั้งภายนอกและภายใน ก่อนที่ทุกคนจะสมัครใจเข้ามา เรามีกฏที่แจ้งให้ทราบว่าเราจะไม่เอาเงินเป็นตัวตั้ง เราจะเอาความสุขนำเพื่อให้พวกเราอยู่กันได้แบบยั่งยืน”

ในปี พ.ศ. 2563 ป้าติ๋ม เริ่มพัฒนาผ้าฝ้ายทอมือสามสีของกลุ่มฯ เข้าสู่กระบวนการคัดสรรสินค้าโอทอป 5 ดาว ให้ได้มาตรฐานและเป็นที่ยอมรับของลูกค้า ตั้งแต่กระบวนการปลูกฝ้าย การผลิตและทอเส้นใยฝ้าย การออกแบบและการตัดเย็บ โดยได้รับการสนับสนุนองค์ความรู้จากทั้งกรมการพัฒนาชุมชน อุตสาหกรรมจังหวัดลำพูน และ สวทช. ทำให้สามารถรังสรรค์ผ้าฝ้ายแท้ 100% ให้เป็นผลิตภัณฑ์มากมาย อาทิ ผ้าฝ้ายทอมือยกดอกลำพูน ผ้าพันคอ เสื้อ ผ้าถุง กางเกง กระโปรง ชุดเดรส กระเป๋า รองเท้า หมวก ฯลฯ

“เราใช้เทคโนโลยีนาโนของ สวทช. ช่วยเพิ่มประสิทธิภาพและเพิ่มมูลค่าผ้าฝ้ายของกลุ่มฯ ได้เท่าตัว ทั้งป้องกันสีซีด กันยูวี ป้องกันแบคทีเรีย ทำให้ผ้าฝ้ายนุ่ม เรียบ มีกลิ่นหอม และป้าก็ใช้สีธรรมชาติจากพืชในท้องถิ่นหรือเปลือกไม้มาย้อมผ้า เพื่อเพิ่มความพิเศษให้ผ้าฝ้ายและขยายฐานกลุ่มลูกค้าเพิ่มมากขึ้น ซึ่งในชุมชนของเรามีเปลือกไม้ที่ให้สีเยอะมาก เช่น เพกา ใบหูกวาง ไม้ฝาง มะเกลือ”

ถึงแม้ว่าสินค้าของกลุ่มฯ จะเริ่มเป็นที่รู้จักและมีลูกค้าประจำเพิ่มมากขึ้น แต่กลุ่มฯ ยังประสบปัญหาปริมาณฝ้ายและพื้นที่ปลูกฝ้ายไม่เพียงพอ ซึ่งในแต่ละปีสต็อกฝ้ายไว้ได้ประมาณ 2-3 ตัน หลังจากเก็บฝ้ายเข้าสู่กระบวนการปั่นทำเส้นใยแล้ว ป้าติ๋มต้องบริหารจัดการฝ้ายเป็นสองส่วน ส่วนแรกสำหรับทำผ้าฝ้ายเข็นมือซึ่งต้องใช้ความปราณีตละเมียดละไมในแต่ละขั้นตอน ตั้งแต่กระบวนการหีบเมล็ด ดีดฝ้าย ปั่นฝ้าย จนถึงทอเป็นเส้นใย ฝ้ายอีกส่วนจะส่งไปหีบเมล็ดและทำเส้นใยที่จังหวัดพิจิตร เนื่องจากกลุ่มฯ ไม่มีเครื่องมือผลิตฝ้ายเส้นเล็กที่ใช้สำหรับทอ และกว่ากลุ่มฯ จะได้เส้นใยกลับมาทอผ้าต้องใช้เวลานานถึง 3 เดือน

“แต่ละปีมีลูกค้าต้องการสั่งซื้อฝ้ายจากเราเยอะมาก แต่เราไม่สามารถขายให้ได้ ต้องเก็บสต็อกไว้แปรรูป ป้าเริ่มขยายพื้นที่ปลูกฝ้ายไปชุมชนใกล้เคียง เพื่อให้เพียงพอต่อความต้องการ และสร้างเครือข่ายผลิตผ้าฝ้ายจากชุมชนที่มีปัญหาเรื่องการตลาด เราก็รับซื้อผ้าฝ้ายจากเขาไปขายไปทำตลาดให้ แต่เขาต้องผลิตตามมาตรฐานและตามแบบที่เรากำหนด”

นอกจากสมาชิกทอผ้าฝ้ายที่อยู่ในวัยผู้สูงอายุ ป้าติ๋ม ยังเปิดโอกาสให้เยาวชนคนรุ่นใหม่ในชุมชนเข้ามาเรียนรู้การทอผ้า เพิ่มพูนประสบการณ์จากการออกร้านจำหน่ายสินค้า รวมทั้งพาไปศึกษาดูงาน เพื่อสร้างแรงบันดาลใจให้พวกเขามองเห็นโอกาสและต่อยอดอาชีพของชุมชนต่อไป

การออกบูธจำหน่ายสินค้าตามงานต่างๆ เป็นช่องทางหลักของกลุ่มฯ ซึ่งสามารถถ่ายทอดเรื่องราวที่มาของผ้าแต่ละผืนให้ลูกค้าได้เข้าใจและประทับใจผลิตภัณฑ์ของกลุ่มฯ

“ผ้าฝ้ายทอมือสามสีของเราเป็นสีเอิร์ธโทน (เขียว ขาว น้ำตาล) เป็น Signature ของแบรนด์เรา เสน่ห์ของผ้าฝ้ายคือลูกค้าต้องได้ลองสัมผัส ได้ลองสวมใส่ ได้ฟังกระบวนการและที่มาของเส้นฝ้ายที่ผสมผสานเส้นใยฝ้ายแต่ละสายพันธุ์ โดยไม่ผ่านการย้อมสีใดๆ และสายพันธุ์ฝ้ายที่หายากที่สุด คือฝ้ายเส้นใยเขียว นอกจากปลูกยากแล้ว การเก็บเกี่ยวและเก็บรักษาก็ยากด้วย พอลูกค้าได้ฟังเรื่องราวและได้สัมผัสเนื้อผ้า เขาจะหลงเสน่ห์สินค้าของเรา การตัดสินใจซื้อจะง่ายกว่าซื้อทางออนไลน์” ในฐานะประธานกลุ่มฯ

นอกจากหน้าที่บริหารจัดการและวางแผนการผลิตแล้ว ป้าติ๋ม ยังรับหน้าที่ด้านการขายและการตลาด สำหรับสมาชิกที่ทอผ้าจะได้ค่าแรงจากความยาวผ้าที่ทอ (เมตร) ส่วนผู้เก็บฝ้าย หีบฝ้ายหรือปั่นฝ้ายจะได้ค่าแรงจากน้ำหนักฝ้าย (กก.) สมาชิกจะถือหุ้นและได้รับเงินปันผลปลายปี รวมทั้งมีสวัสดิการช่วยเหลือกรณีสมาชิกหรือครอบครัวเจ็บป่วยหรือเสียชีวิต

นอกจากนี้กลุ่มฯ ยังจัดสรรงบประมาณสนับสนุนกิจกรรมของชุมชน “ถึงผลตอบแทนจะเล็กน้อย แต่ทุกคนมีความสุขจากน้ำใจและการแบ่งปัน”

นอกจากงานผ้าทอที่สร้างรายได้ให้ผู้สูงอายุในชุมชน ป้าติ๋ม ยังเป็นแกนนำจัดตั้งกลุ่มผลิตสมุนไพร เพื่อให้ชาวบ้านที่ไม่ถนัดงานทอผ้ามีรายได้จากการปลูกและแปรรูปสมุนไพรส่งให้โรงพยาบาลป่าซาง อีกทั้งได้ปรับพื้นที่บางส่วนของตัวเองให้เป็นศูนย์เรียนรู้นวัตกรรมผ้าทอพื้นเมือง แหล่งปลูกฝ้าย 3 สี สู่การแปรรูปและพัฒนาผลิตภัณฑ์ด้วยนวัตกรรมและเทคโนโลยี น

อกจากนี้ยังเป็นแหล่งพัฒนาอาชีพด้านการแปรรูปสมุนไพร ต่อยอดสร้างอาชีพ สร้างรายได้ให้คนในชุมชนอีกด้วยสอดคล้องกับแผนงานการพัฒนาพื้นที่ปลูกฝ้าย สมุนไพรและพืชพรรณที่ให้สีธรรมชาติของกลุ่มฯ โดยได้รับงบประมาณจากหน่วยงานในท้องถิ่น จัดสร้างอาคารโรงผลิตเส้นใย โรงทอฝ้ายและแปรรูปสมุนไพร

ป้าติ๋ม คาดหวังให้ที่นี่เป็นศูนย์เรียนรู้ครบวงจรที่การถ่ายทอดภูมิปัญญาเพื่อสร้างตำนานไว้ให้ลูกหลานและดึงดูดนักท่องเที่ยวให้มาเรียนรู้วิถีชุมชนที่อุดมด้วยทรัพยากรธรรมชาติ โดยมี “ผ้าทอฝ้ายสามสี” ผลิตภัณฑ์ของชุมชนเป็นเครื่องสะท้อนความปลอดภัยตั้งแต่ต้นน้ำจนถึงมือผู้บริโภค

ที่มา- สถาบันการจัดการเทคโนโลยีและนวัตกรรมเกษตร ( สท. )