ก.เกษตรฯผลักดันให้ใช้ปุ๋ยผสมผสาน เพื่อช่วยเกษตรกรขจัดปัญหาปุ๋ยราคาแพง และถ่ายทอดองค์ความรู้ผ่านชุมชน
ดร.เฉลิมชัย ศรีอ่อน รัฐมนตรีว่าการกระทรวงเกษตรและสหกรณ์ เปิดเผยข้อมูลว่า ดินและปุ๋ย เป็นหนึ่งในปัจจัยสำคัญที่จะช่วยเพิ่มผลผลิตให้แก่พืชทั้งในด้านปริมาณและคุณภาพ ซึ่งเกษตรกรส่วนใหญ่ยังขาดความรู้เรื่องการจัดการดินและการใช้ปุ๋ยที่ถูกต้อง หรือมีการใช้ปุ๋ยมากเกินความจำเป็น ส่งผลให้ต้นทุนการผลิตในส่วนของปุ๋ยเคมีสูง ประกอบกับประเทศไทยยังคงต้องมีการนำเข้าปุ๋ยจากต่างประเทศ ซึ่งในสถานการณ์ปัจจุบัน ประเทศไทยกำลังประสบปัญหาด้านการนำเข้า อาจทำให้ปุ๋ยเคมีราคาสูง และหาซื้อยากมากขึ้น เกษตรกรซึ่งเป็นผู้ใช้ปุ๋ย ก็จะได้รับผลกระทบโดยตรง เพราะถ้าพืชได้รับปุ๋ยหรือธาตุอาหารไม่เพียงพอ จะส่งผลการเจริญเติบโต ผลผลิตลดลง คุณภาพของผลผลิตไม่ดีเท่าที่ควร ดังนั้น เพื่อเป็นการช่วยลดและบรรเทาปัญหา เราจำเป็นต้องหันมาใส่ใจเรื่องการจัดการดินและการใช้ปุ๋ยให้เกิดประสิทธิภาพสูงสุด
นายเข้มแข็ง ยุติธรรมดำรง อธิบดีกรมส่งเสริมการเกษตร กล่าวว่า กรมส่งเสริมการเกษตรมีการดำเนินการส่งเสริมให้เกษตรกรจัดการดินและการใช้ปุ๋ยได้อย่างถูกต้อง ใช้ปุ๋ยอย่างมีประสิทธิภาพตามหลักการ4 ถูก (ถูกสูตร ถูกอัตรา ถูกเวลา และถูกวิธี)ส่งเสริมเกษตรกรใช้ปุ๋ยแบบผสมผสาน รวมทั้งส่งเสริมให้ใช้ปุ๋ยตามค่าวิเคราะห์ดินเพื่อเพิ่มปริมาณผลผลิต ผลผลิตมีคุณภาพ และลดต้นทุนการผลิต ผ่านศูนย์จัดการดินปุ๋ยชุมชน หรือ ศดปช. มาตั้งแต่ปี 2558 ซึ่งปัจจุบันมี ศดปช.จำนวน 882 ศูนย์ ตั้งอยู่อำเภอละ 1 ศูนย์ทั่วประเทศ มีสมาชิก ศดปช. 17,640 ราย
โดยสมาชิก ศดปช.มีการยอมรับการใช้ปุ๋ยตามค่าวิเคราะห์ดินและนำไปปฏิบัติเพิ่มขึ้นทุกปี ทั้งนี้ ศดปช.เป็นต้นแบบในการขยายผลถ่ายทอดความรู้ด้านการจัดการดินและการใช้ปุ๋ยอย่างถูกต้องและเหมาะสมไปสู่เกษตรกรทั่วไป
และผลการดำเนินงานในปีที่ผ่านมา สมาชิก ศดปช. มีพื้นที่การนำเทคโนโลยีฯ ไปใช้เพิ่มขึ้นเป็น244,853 ไร่ ได้รับผลผลิตเฉลี่ยเพิ่มขึ้นร้อยละ 14 ลดต้นทุนปุ๋ยเคมีได้เฉลี่ยร้อยละ 25.2 คิดเป็นมูลค่าประมาณ 73 ล้านบาท รวมทั้งสามารถจัดตั้ง ศดปช.เครือข่ายเพิ่มขึ้นตามความต้องการของพื้นที่ จึงทำให้มี ศดปช.เครือข่าย เกิดขึ้นรวมแล้วจำนวน 1,095 ศูนย์ และมีสมาชิกของ ศดปช. เครือข่ายรวมทั้งสิ้น32,547 ราย
สำหรับการดำเนินงานตามมาตรการแก้ไขปัญหาปุ๋ยเคมีราคาสูงและไม่มีเสถียรภาพ ระหว่างปี 2565 – 2569 ในส่วนของการแก้ไขปัญหาระยะสั้นของกรมส่งเสริมการเกษตรนั้น ได้มอบแนวทางปฏิบัติลงสู่พื้นที่เพื่อให้สำนักงานเกษตรจังหวัด /อำเภอ ได้รับทราบและนำไปปฏิบัติ ได้แก่ การกำหนดนโยบายส่งเสริมเกษตรกรใช้ปุ๋ยอย่างมีประสิทธิภาพ การใช้ปุ๋ยตามค่าวิเคราะห์ดิน การปรับปรุงความเป็นกรดเป็นด่างของดินให้เหมาะสม และการใช้ปุ๋ยแบบผสมผสาน ผ่าน ศดปช. การผลักดัน ศดปช. เป็นต้นแบบ และสนับสนุน ศดปช. เป็นกลไก ในการขยายผลเพื่อช่วยเหลือเกษตรกรที่ประสบปัญหาปุ๋ยเคมีราคาสูงและไม่สามารถเข้าถึงแหล่งจำหน่ายแม่ปุ๋ยได้ และการจัดหาแหล่งทุนเสริมสภาพคล่อง ทั้งการขอสินเชื่อและการจัดหาแหล่งทุนเพื่อเสริมสภาพคล่องให้เกษตรกรและสถาบันเกษตรกร ในการจัดหาปุ๋ยบริการสมาชิก ศดปช.แปลงใหญ่ วิสาหกิจชุมชน และเกษตรกรรายย่อย จาก ธ.ก.ส.
นอกจากนี้ กรมส่งเสริมการเกษตรยังมีการสนับสนุนให้เกษตรกรใช้ปุ๋ยอย่างมีประสิทธิภาพ ใช้ปุ๋ยแบบผสมผสานทั้งปุ๋ยเคมี ปุ๋ยอินทรีย์ และปุ๋ยชีวภาพ โดยเน้นใช้วัสดุเหลือใช้ทางการเกษตรที่มีในท้องถิ่นมาผลิตปุ๋ยอินทรีย์ใช้เอง และการไถกลบตอซัง เพื่อทำให้เกิด 4 ลด 4 เพิ่ม คือ ลดการเผา ลดโลกร้อน ลดการชะล้างดิน และลดต้นทุนด้านปุ๋ยเคมี
ในขณะที่ทำให้มี 4 เพิ่ม คือ เพิ่มอินทรียวัตถุ เพิ่มธาตุอาหารพืช เพิ่มผลผลิต และเพิ่มมูลค่าวัสดุการเกษตรเหลือใช้ ในสภาวะที่ปุ๋ยเคมีปรับราคาสูงขึ้นและขาดแคลนจากความผันผวนที่เกิดขึ้นจากปัจจัยต่างๆ กรมส่งเสริมการเกษตรได้รณรงค์ให้เกษตรกรผลิตและใช้ปุ๋ยอินทรีย์และวัสดุอินทรีย์มาอย่างต่อเนื่อง ตั้งแต่ปี 2559 โดยสำนักงานเกษตรจังหวัด บูรณาการการทำงานร่วมกับหน่วยงานอื่นๆ ทั้งภายในและนอกกระทรวงเกษตรและสหกรณ์ เพื่อส่งเสริมการผลิตปุ๋ยอินทรีย์ในพื้นที่ 77 จังหวัด 882 อำเภอทั่วไป ปี 2565 มีเป้าหมายการผลิตปุ๋ยคอก ปุ๋ยหมัก ปุ๋ยพืชสด และการไถกลบตอซัง จำนวน 2,156,033.83 ตัน
ผลการดำเนินงาน เดือนตุลาคม 2564 – มิถุนายน 2565 สามารถผลิตได้จำนวน 3,406,152.63 ตัน (ผลิตได้ร้อยละ 157.98 ของเป้าหมาย) ได้แก่ ปุ๋ยคอก 514,071.8 ตัน ปุ๋ยหมัก 279,579.18 ตัน ปุ๋ยพืชสด218,916.28 ตัน ไถกลบตอซัง 2,393,585.37 ตัน (พื้นที่ไถกลบตอซังข้าว 4,465,809.56 ไร่ ข้าวโพด75,495.03 ไร่ อ้อย 48,209.44 ไร่) คิดเป็นธาตุอาหาร N P K รวม 110,894.135 ตัน (N 34,128.67 ตันP 24,464.63 ตัน K 52,300.84 ตัน)
ทั้งนี้ ปุ๋ยอินทรีย์และปุ๋ยเคมี ต่างก็มีจุดเด่นที่แตกต่างกัน ไม่สามารถที่จะใช้ทดแทนกันได้ทั้งหมด ปุ๋ยเคมีที่เราใส่ลงไปในดิน จะให้ธาตุอาหารในปริมาณมาก พืชนำไปใช้ได้ง่ายและรวดเร็ว ในขณะที่ปุ๋ยอินทรีย์ มีปริมาณธาตุอาหารอยู่น้อยกว่า และมีคุณสมบัติช่วยให้ดินมีความโปร่ง ร่วนซุย ระบายน้ำ และถ่ายเทอากาศได้ดี เผื่อให้รากพืชได้ชอนไชไปหาธาตุอาหารได้ง่ายขึ้น ช่วยเพิ่มประสิทธิภาพปุ๋ยเคมี ดังนั้นเกษตรกรจึงควรใช้ปุ๋ยเคมีร่วมกับปุ๋ยอินทรีย์ด้วยเช่นกัน อธิบดีกรมส่งเสริมการเกษตร กล่าวเพิ่มเติม
ทั้งนี้ กรมส่งเสริมการเกษตรขอประชาสัมพันธ์และเชิญชวนให้เกษตรกร เข้ามาใช้บริการที่ศูนย์จัดการดินปุ๋ยชุมชน หรือ ศดปช. ทั่วประเทศ เพื่อให้เกษตรกรสามารถจัดการดิน วิเคราะห์ดิน และใช้ปุ๋ยตามค่าวิเคราะห์ดิน ซึ่งเป็นการใช้ปุ๋ยอย่างถูกต้องในปริมาณที่เหมาะสมกับปริมาณธาตุอาหารที่มีอยู่ในดินและความต้องการของพืช เป็นการใช้ปุ๋ยแม่นยำเฉพาะพื้นที่ ไม่มากไม่น้อยเกินไป และเกิดการลดการใช้ปุ๋ยเคมีลง