นายประเทศ ซอรักษ์ รองอธิบดีกรมประมง ในฐานะหัวหน้าคณะผู้แทนไทย พร้อมด้วย นางสาวสัมพันธ์ ปานจรัตน์ ผู้อำนวยการกองนโยบายและแผนพัฒนาการประมง และคณะ ร่วมการประชุมคณะกรรมการด้านประมง ครั้งที่ 135 (The 135th Session of the Fisheries Committee: 135th COFI) ภายใต้กรอบความร่วมมือขององค์การเพื่อความร่วมมือทางเศรษฐกิจและการพัฒนา (Organization for Economic Co-operation and Development: OECD) เมื่อวันที่ 13 – 14 พฤษภาคม 2568 ณ สำนักงานใหญ่ OECD สาธารณรัฐฝรั่งเศส โดยการประชุมครั้งนี้ จัดขึ้นเพื่อหารือเกี่ยวกับนโยบายด้านการประมงและการเพาะเลี้ยงสัตว์น้ำอย่างยั่งยืน โดยเปิดโอกาสให้ประเทศสมาชิกองค์กรระหว่างประเทศ และผู้สังเกตการณ์ เข้าร่วมแลกเปลี่ยนข้อมูล ความคิดเห็น และแนวทางการดำเนินงานร่วมกัน และยังมีการหารือถึงการดำเนินงานในอนาคต อาทิ การมีส่วนร่วมของ COFI ในการประชุม UN Ocean Conference ครั้งที่ 3 (UNOC3) และการขับเคลื่อนตามข้อเสนอแนะของสภา OECD (OECD Council) ในการต่อต้านการทำประมงผิดกฎหมาย ขาดการรายงาน และไร้การควบคุม (IUU Fishing) รวมถึงร่วมแสวงหาแนวทางการดำเนินงานเกี่ยวกับความโปร่งใสของผู้รับผลประโยชน์ในภาคประมง (Beneficial Owner)
รองอธิบดีกรมประมง เปิดเผยในส่วนของฝ่ายไทยว่า ประเทศไทยได้รายงานข้อมูลการดำเนินงานภายในประเทศที่สนับสนุนการบริหารจัดการทรัพยากรสัตว์น้ำอย่างยั่งยืนในระยะยาว ตลอดจนแสดงจุดยืนและความมุ่งมั่นในการให้ความร่วมมือและปฏิบัติตามหลักเกณฑ์ที่เกี่ยวข้อง อันเป็นส่วนหนึ่งของกระบวนการเข้าสู่การเป็นประเทศสมาชิกของ OECD และเชื่อมั่นว่าแนวทางของคณะกรรมการประมงของ OECD จะมีบทบาทสำคัญในการขับเคลื่อนการประมงและเพาะเลี้ยงสัตว์น้ำของประเทศไทย
ที่สำคัญ รองอธิบดีกรมประมงพร้อมผู้แทนจากประเทศไทย ยังได้ประชุมหารือทวิภาคีกับ Mr. Guillaume Gruère รักษาการรองผู้อำนวยการสำนักการค้าและเกษตรกรรมของ OECD เกี่ยวกับกระบวนการในการเข้าเป็นสมาชิกคณะกรรมการด้านการประมง รวมถึงการแลกเปลี่ยนข้อมูลที่เกี่ยวข้อง โดย Mr. Guillaume Gruère ได้ตอบรับข้อเสนอจากฝ่ายไทยเพื่อนำไปอธิบายและเสริมสร้างความเข้าใจ ให้แก่เจ้าหน้าที่ของประเทศสมาชิกเดิมที่มีบทบาทในการพิจารณารับประเทศไทยเข้าเป็นสมาชิก ตลอดจนได้ให้ข้อเสนอแนะเพื่อสนับสนุนการเตรียมความพร้อมของไทยสำหรับการเข้าร่วมเป็นสมาชิกในลำดับถัดไป
ทั้งนี้ ประเทศไทยเข้าเป็น full participant ของ OECD Development Centre เมื่อวันที่ 21 มีนาคม 2548 โดยกรมประมงสามารถเข้าร่วมกำหนดแนวทางกิจกรรมเพื่อให้สอดคล้องกับนโยบายของประเทศไทยเป็นประโยชน์โดยตรงต่อการเพิ่มพูนประสบการณ์และการเรียนรู้ในการปรับปรุงแนวทางการบริหารจัดการประมงของประเทศ เนื่องจาก OECD มุ่งเน้นการแลกเปลี่ยนประสบการณ์และความคิดเห็นของประเทศสมาชิกซึ่งกรมประมงยังให้ความร่วมมือในการประสานข้อมูลความคิดเห็นด้านการประมงระดับประเทศทั้งในระดับนโยบายและระดับปฏิบัติการ ตลอดจนส่งผู้แทนเข้าร่วมประชุมคณะทำงานทางวิชาการที่เกี่ยวข้องสม่ำเสมอ