รมช.มนัญญา เยี่ยมชม Swiss Future Farm ฟาร์มโคนมต้นแบบ

 รมช.มนัญญา ไทยเศรษฐ์ รัฐมนตรีช่วยว่าการกระทรวงเกษตรและสหกรณ์ เยี่ยมชม Swiss Future Farm ฟาร์มโคนมต้นแบบ และเป็นฟาร์มสาธิตการเลี้ยงโคนมที่มีเครื่องจักร และเทคโนโลยีการจัดการฟาร์มที่ทันสมัย เพื่อใช้เป็นต้นแบบให้กับเกษตรกรผู้เลี้ยงโคนม ณ เมืองซูริค ประเทศสวิตเซอร์แลนด์ พร้อมด้วยนายสมพร ศรีเมือง ผอ.องค์การส่งเสริมกิจการโคนมแห่งประเทศไทย(อ.ส.ค.)และคณะ

308513924 517998360331744 7744095258068497342 n
เยี่ยมชมฟาร์มโคนมต้นแบบ

สำหรับ Swiss Future Farm เป็นฟาร์มโคนมที่มีการใช้เทคโนโลยีการจัดการฟาร์มที่มุ่งเน้นอนุรักษ์ธรรมชาติเพื่อความยั่งยืนลดผลกระทบต่อสิ่งแวดล้อมในด้านต่าง ๆ เช่น ปกป้องสภาพแวดล้อมตามธรรมชาติ ระบบการผลิตเกษตรกรรม ความยั่งยืนและอาหารเพื่อสุขภาพ การบริหารต้นทุนที่มีประสิทธิภาพ และการทำปศุสัตว์ด้วยสายพันธุ์ที่เหมาะสมเพื่อให้สามารถแข่งขันในตลาดได้

ผู้สื่อข่าวรายงานว่า สำหรับประเทศไทยเรา กิจการโคนมในประเทศไทย ดำเนินการโดยองค์การส่งเสริมกิจการโคนมแห่งประเทศไทย (อ.ส.ค.)

ส่วนประวัติความเป็นมาของ อ.ส.ค. นั้น กำเนิดขึ้นจากการที่พระบาทสมเด็จพระบรมชนกาธิเบศร มหาภูมิพลอดุลยเดชมหาราช บรมนาถบพิตรและสมเด็จพระนางเจ้าสิริกิติ์ พระบรมราชินีนาถ พระบรมราชชนนีพันปีหลวง เสด็จประพาสยุโรปเมื่อ พ.ศ. 2503 ทรงสนพระทัยการเลี้ยงโคนมของประเทศเดนมาร์ก

จากนั้นรัฐบาลไทยได้ลงนามความร่วมมือช่วยเหลือทางวิชาการกับรัฐบาลเดนมาร์กเมื่อวันที่ 20 ตุลาคม พ.ศ. 2504 โดยเดนมาร์กให้การช่วยเหลือเป็นเงิน 4.33 ล้านโครเนอร์ (ประมาณ 23.5 ล้านบาท) ก่อนหน้านั้น นายชอนเดอร์การ์ด ชาวเดนมาร์ก ได้จัดตั้งฟาร์มโคนมและศูนย์ฝึกอบรมการเลี้ยงโคนมในประเทศไทยเมื่อเดือนมกราคม พ.ศ. 2504 ณ อำเภอมวกเหล็ก จังหวัดสระบุรี พระบาทสมเด็จพระบรมชนกาธิเบศร มหาภูมิพลอดุลยเดชมหาราช บรมนาถบพิตร และสมเด็จพระเจ้าเฟรเดอริกที่ 9 แห่งเดนมาร์ก ทรงประกอบพิธีเปิดฟาร์มโคนมและศูนย์อบรมไทย–เดนมาร์กอย่างเป็นทางการเมื่อวันที่ 16 มกราคม พ.ศ. 2505 และรัฐบาลไทยกำหนดให้วันที่ 17 มกราคมของทุกปี เป็นวันโคนมแห่งชาติ และใน พ.ศ. 2509 รัฐบาลเดนมาร์กจัดส่งผู้เชี่ยวชาญมาร่วมดำเนินการพร้อมสนับสนุนเงินงบประมาณจำนวน 2.87 ล้านโครเนอร์

ต่อมาในปี พ.ศ. 2514 รัฐบาลไทยรับโอนกิจการฟาร์มโคนมและศูนย์อบรมไทย–เดนมาร์กมาจัดตั้งเป็นรัฐวิสาหกิจ สังกัดกระทรวงเกษตรและสหกรณ์ ตั้งแต่วันที่ 7 กันยายน พ.ศ. 2514 มีชื่อว่า “องค์การส่งเสริมกิจการโคนมแห่งประเทศไทย” ย่อว่า “อ.ส.ค.” เพื่อดำเนินบทบาทในการส่งเสริมการเลี้ยงโคนมและพัฒนาอุตสาหกรรมนม โดยมีนายยอด วัฒนสินธุ์ เป็นผู้อำนวยการคนแรก

อ.ส.ค. มีโรงงานนมจำนวน 5 แห่ง ครอบคลุมพื้นที่ต่าง ๆ ดังนี้

สำนักงาน อ.ส.ค. ภาคกลาง (โรงงานนมสระบุรี) ถนนมิตรภาพ ตำบลมิตรภาพ อำเภอมวกเหล็ก จังหวัดสระบุรี

สำนักงาน อ.ส.ค. ภาคใต้ (โรงงานนมประจวบคีรีขันธ์) ถนนเพชรเกษม ตำบลหนองตาแต้ม อำเภอปราณบุรี จังหวัดประจวบคีรีขันธ์

สำนักงาน อ.ส.ค. ภาคตะวันออกเฉียงเหนือ (โรงงานนมขอนแก่น) ตำบลท่าพระ อำเภอเมืองขอนแก่น จังหวัดขอนแก่น

สำนักงาน อ.ส.ค. ภาคเหนือตอนล่าง (โรงงานนมสุโขทัย) ตำบลคลองมะพลับ อำเภอศรีนคร จังหวัดสุโขทัย

สำนักงาน อ.ส.ค. ภาคเหนือตอนบน (โรงงานนมเชียงใหม่) ถนนห้วยแก้ว ตำบลช้างเผือก อำเภอเมืองเชียงใหม่ จังหวัดเชียงใหม่

อ.ส.ค. ผลิตผลิตภัณฑ์นมหลายรูปแบบ เช่น นมยูเอชที นมพาสเจอร์ไรส์ นมเปรี้ยว โยเกิร์ต โดยใช้ชื่อทางการค้าว่า “ไทย–เดนมาร์ค” รวมทั้งมีการฝึกอบรมการเลี้ยงโคนม การท่องเที่ยวฟาร์มโคนม บริการบ้านพักตากอากาศ ผลิตน้ำดื่มตรา “อ.ส.ค.” และผลิตวารสาร อ.ส.ค.