“พาราควอต”แบนแล้วแบนอีก ล่าสุด”ภาพประกอบ”การฉีดพาราควอตกลายเป็นประเด็นร้อนมาอีกครั้ง

“พาราควอต” แบนแล้วแบนอีก ถูกแบนให้เกษตรกรเดือดร้อนยังไม่พอ ล่าสุด “ภาพประกอบ” การฉีดพาราควอต กลายเป็นประเด็นร้อนมาอีกครั้ง เมื่อ ดร.จรรยา มณีโชติ นายกสมาคมวิทยาการวัชพืชฯ ทำจดหมายถึงประธานแพทย์ชนบท 

วันนี้ [30 กันยายน 2565 ] เพจสมาคมวิทยาการวัชพืชแห่งประเทศไทยได้เผยแพร่ข้อความจดหมายดังนี้

เรียน ประธาน #ชมรมแพทย์ชนบท
สืบเนื่องจากโพสต์ของ #ชมรมแพทย์ชนบท เมื่อวันที่ 29 กันยายน 2565 ที่ใช้ภาพประกอบบทความว่า “กลุ่มต่อต้านการแบน #พาราควอต ผิดหวัง” ซึ่งใช้ภาพประกอบเป็นคนเดินพ่นสารเคมีในนาข้าว https://m.facebook.com/142436575783508/photos/a.757481044279055/6209998059027299/

สมาคมวิทยาการวัชพืชแห่งประเทศไทย ในฐานะที่เป็นองค์กรวิชาการที่เผยแพร่ความรู้ด้านวิทยาการวัชพืชที่ถูกต้องให้แก่สังคม มาเป็นเวลายาวนาน 40 ปี ขอเรียนให้ทราบว่า เป็นการใช้ภาพประกอบที่ไม่สอดคล้องกับเนื้อหาที่กำลังพูดถึง สารกำจัดวัชพืช “พาราควอต” เนื่องจาก

  1. พาราควอต เป็นสารกำจัดวัชพืชที่มีกลไกออกฤทธิ์ยับยั้งการสังเคราะห์แสง เข้าทำลายทุกส่วนของใบและลำต้นพืชที่มีสีเขียว ไม่ว่าพืชนั้น..จะเป็น “ข้าวปลูก” หรือ “วัชพืช” ดังนั้น จึงถูกจัดเป็นสารกำจัดวัชพืชประเภทไม่เลือกทำลาย (Non- selective herbicide)
  2. ชาวนาใช้พาราควอตจริง แต่! ใช้พ่นฆ่าหญ้าตามหัวคันนาและทางเดินเท่านั้น และหลีกเลี่ยงไม่ให้ละอองสารไปสัมผัสใบและต้นข้าว เพราะรู้ดีว่า หากปล่อยให้พาราควอตปลิวไปสัมผัสใบและต้นข้าว ต้นข้าวจะแห้งตายภายใน 1 วัน ดังนั้น ชาวนาทั่วโลก จึงไม่เคยใช้พาราควอตพ่นกำจัดวัชพืชในนาข้าว
  3. ภาพคนกำลังเดินพ่นสารเคมีในนาข้าว เป็นการพ่นสารฆ่าแมลง หรือ สารกำจัดโรค หรือ ปุ๋ยทางใบ หรือฮอร์โมนพืช เพราะสารเหล่านี้สามารถพ่นโดยตรงไปที่ต้นข้าวได้ โดยไม่เป็นพิษต่อต้นข้าว
  4. เนื่องจากพาราควอตเป็นสารกำจัดวัชพืชประเภทไม่เลือกทำลาย จึงใช้ได้ในพืชที่ปลูกเป็นแถว เช่น ข้าวโพด อ้อย มันสำปะหลัง ยางพารา ปาล์มน้ำมัน และไม้ผล โดยพ่นกำจัดวัชพืชที่ขึ้นอยู่ระหว่างแถวพืช ขณะพ่นพาราควอต เกษตรกรจะกดหัวฉีดไปที่ต้นวัชพืช ซึ่งมีความสูงประมาณ 15-30 ซม. เพื่อให้ละอองสารไปสัมผัสใบและต้นของพืชประธานให้น้อยที่สุด
  5. ในกรณีพืชผัก เกษตรกรจะพ่นพาราควอตเพื่อกำจัดวัชพืชให้ตาย ก่อนไถเตรียมดินปลูกผัก แต่หลังปลูกผักแล้วจะไม่ใช้พาราควอต โดยเฉพาะในผักกินใบ เช่น คะน้า .หากมีละอองพาราควอตปลิวไปสัมผัสใบ ใบผักจะแสดงอาการใบไหม้ภายใน 24 ชั่วโมง ไม่สามารถส่งขายได้

นอกจากนี้ ภาพประกอบดังกล่าวยังแสดงให้เห็นละอองสารเคมีฟุ้งกระจาย ซึ่งทำให้คนทั่วไปในสังคมเข้าใจได้ว่าชาวนาไทยมีความเสี่ยงสูงต่อการได้รับสัมผัสพาราควอต จนเกิดอันตรายต่อชีวิตและสุขภาพ

จากคำอธิบายข้างต้น หวังว่า #ชมรมแพทย์ชนบท จะมีความเข้าใจที่ถูกต้องเกี่ยวกับสารพาราควอตมากขึ้น และ แก้ไขภาพประกอบที่ทำให้สังคมเข้าใจผิดว่า มีการใช้พาราควอตในนาข้าว หากต้องการภาพประกอบพาราควอตที่ถูกต้อง สามารถติดต่อขอรับได้ที่ นายกสมาคมฯ โทร 0990104019

ขอแสดงความนับถือ
ดร. จรรยา มณีโชติ

นายกสมาคมวิทยาการวัชพืชแห่งประเทศไทยและนายกสมาคมวิทยาการวัชพืชแห่งภาคพื้นเอเชีย-แปซิฟิก

30 กันยายน 2565
….

ทั้งนี้เมื่อโพสต์ได้เผยแพร่ออกไปมีกลุ่มเกษตรกร นักวิชาการมาแสดงความคิดเห็นกันเป็นจำนวนมาก
เช่น คุณ Dol Moonman
“ผมเป็นแพทย์ตัวจริงที่โตมากับการใช้พาราควอตและตอนนี้ยังทำเกษตรด้วย ต่อต้านการแบนพาราควอต
เพราะไม่มีข้อมูลที่เพียงพอว่าพาราควอตทำลายสุขภาพคนไทย และทำลายสิ่งแวดล้อม

บุหรี่ เหล้า อาหารเค็ม อาหารหวาน การจราจรต่างหากที่ฆ่าคนไทย ส่วนสิ่งแวดล้อมถูกทำลายด้วยการแบนพาราควอตนั้นซ้ำเติม เกษตรกรให้ยากจนมากขึ้น เพิ่มต้นทุนการผลิต เพราะไกลโฟเกตและกลูโฟสิเนต ราคาแพงมาก พ่นหญ้าไม่ค่อยตายอีกต่างหาก

ที่มา เพจสมาคมวิทยาการวัชพืชแห่งประเทศไทย