ก.เกษตรฯเตรียมหารือรัฐบาล ปลดล็อคค่าใช้จ่ายจดทะเบียนแปลง GAP หนุนส่งออกประเทศไทย

‘รมช.มนัญญา’ เตรียมหารือรัฐบาลปลดล็อคค่าใช้จ่ายจดทะเบียนแปลง GAP หนุนส่งออกประเทศไทยย้ำ !! ไทยต้องเป็นเมืองเกษตรปลอดภัย ป้อนโลก พร้อมชื่นชมผลงานกรมวิชาการเกษตรในโอกาสฉลองครบรอบ 50 ปี จับมือ 2 หน่วยงาน ลงนาม MOU ใหญ่ กัญชา กัญชง ทางการแพทย์ และก๊าซเรือนกระจก

วันนี้ (3 ต.ค.65) นางสาวมนัญญา ไทยเศรษฐ์ รัฐมนตรีช่วยว่าการกระทรวงเกษตรและสหกรณ์ กล่าวในโอกาสเป็นประธานพิธีอ่านสารแสดงความยินดีเนื่องในโอกาสวันสถาปนากรมวิชาการเกษตร ครบรอบ 50 ปี วันที่ 1 ตุลาคม 2565 ณ ห้องประชุม 314 ตึกกสิกรรม กรมวิชาการเกษตร ว่า นโยบายในปี 2566 นี้ กระทรวงเกษตรฯ มุ่งมั่นที่จะเดินหน้าให้ประเทศไทยเป็นเมืองเกษตรปลอดภัย ลด ละ เลิก สารเคมี

697A6095 0A6A 401E A0ED DF88A63D0D6A

โดยกำชับให้กรมวิชาการเกษตรเดินหน้าศึกษาวิจัยในการใช้สารชีวภัณฑ์ทดแทนการใช้สารเคมี ซึ่งขณะนี้กรมมีความพร้อมที่จะเป็นพี่เลี้ยงให้ความรู้แก่เกษตรกรในการผลิตสารชีวภัณฑ์ พร้อมทั้งกำชับให้กรมเป็นหน่วยงานที่กำหนดหลักเกณฑ์เพื่อให้ทุกฝ่ายปฏิบัติ นอกจากนี้ ยังให้นโยบายเดินหน้าวิจัยและพัฒนาพันธุ์พืชที่เป็นความต้องการของตลาด มีผลผลิตต่อไร่สูง สามารถต้านทานโรคพืชและโรคแมลงได้

อีกทั้ง ขอให้เจ้าหน้าที่ทุกคนปฏิบัติงานอย่างเต็มที่ เพื่อรักษาผลประโยชน์ของประเทศชาติ โดยเฉพาะในการส่งออกผลไม้ไทยเพื่อรักษาแชมป์การส่งออกอันดับ 1 ในตลาดประเทศจีน ตลอดจนสนับสนุนให้กรมวิชาการเกษตรนำผลงานวิจัยที่ประสบความสำเสร็จไปขยายผลให้เกษตรกร หรือภาคเอกชนได้ใช้ประโยชน์ เพื่อตอบโจทย์ความต้องการของประเทศ ภายใต้นโยบายตลาดนำการวิจัย

7ABF739D D1A0 489A ACF8 30970DC7FDB8

นอกจากนี้ ยังได้มอบนโยบายในการนำเอาที่ดินของกรมวิชาการเกษตร หรือหน่วยงานในสังกัดกระทรวงเกษตรฯ มาเข้าร่วมโครงการคาร์บอนเครดิต เพื่อลดก๊าซเรือนกระจก ภายหลังจากที่ได้มีการลงนาม MOU ร่วมกับองค์การบริหารจัดการก๊าซเรือนกระจก (องค์การมหาชน) ในวันนี้อีกด้วย

“นโยบายเกษตรปลอดภัยถือว่าประสบความสำเร็จ เนื่องจากในแต่ละปีมีเกษตรกรยื่นขอจดทะเบียนแปลงการปฏิบัติทางการเกษตรที่ดี (GAP) และแปลง GAP อินทรีย์เพิ่มขึ้น อย่างไรก็ตาม กระทรวงเกษตรฯ เล็งเห็นถึงปัญหาการแบกภาระต้นทุนค่าใช้จ่ายการขอขึ้นทะเบียนแปลง GAP ของเกษตรกร ซึ่งต้องยื่นขอตรวจและเสียค่าใช้จ่ายในอัตราที่รัฐประกาศภายหลังมีการถ่ายโอนการตรวจรับรองแปลงให้เอกชนตามมติ ครม. เก่า ดังนั้น จึงเตรียมหารือรัฐบาลเพื่อหามาตรการที่จะช่วยลดภาระให้กับเกษตรกรที่ประสงค์จะขึ้นทะเบียนแปลง GAP ทั้งนี้ หากมีการขึ้นทะเบียนแปลง GAP ได้เพิ่มขึ้น จะเป็นการสนับสนุนการส่งออกสินค้าเกษตรของไทย ทำรายได้ให้กับประเทศไทยอย่างมาก” รมช.มนัญญา กล่าว

สำหรับผลการดำเนินงานในปี 2565 กรมวิชาการเกษตรมีเป้าหมายในการดำเนินการตรวจสอบแหล่งผลิตพืชจำนวน 100,000 แปลง ตรวจได้ 123,764 แปลง ครอบคลุมพื้นที่ 539,600 ไร่ ซึ่งเกินเป้าหมายไปแล้ว 20 % ในส่วนของการรับรอง GAP สะสม ปี 2547 – 2565 (31 ก.ค.65) จำนวน 287,053 แปลง พื้นที่ 1,837,162 ไร่ รับรองแปลงอินทรีย์สะสม ปี 2547 – 2565 จำนวน 2,999 แปลง พื้นที่ 18,765 ไร่

AFCBC9F7 B640 418A A735 24C356BE6D38

ด้านนายระพีภัทร์ จันทรศรีวงศ์ อธิบดีกรมวิชาการเกษตร กล่าวว่า นอกจากนี้ เนื่องในโอกาสวันสถาปนากรมวิชาการเกษตร ครบรอบ 50 ปี กรมวิชาการเกษตร จึงได้จัดให้มีพิธีลงนามความร่วมมือร่วมกับ 2 หน่วยงานที่เกี่ยวข้อง ได้แก่

1) พิธีลงนามบันทึกข้อตกลงความร่วมมือด้านการพัฒนาโครงการที่เกี่ยวข้องกับการจัดการก๊าซเรือนกระจก ระหว่าง กรมวิชาการเกษตร กับ องค์การบริหารจัดการก๊าซเรือนกระจก (องค์การมหาชน) โดยมี อธิบดีกรมวิชาการเกษตร กับ นายรองเพชร บุญช่วยดี รองผู้อำนวยการองค์การบริหารจัดการก๊าซเรือนกระจก ร่วมลงนาม

ซึ่งสอดคล้องกับนโยบายผลักดันเศรษฐกิจชีวภาพ เศรษฐกิจหมุนเวียน เศรษฐกิจสีเขียว BCG ให้เป็นกลไกที่สำคัญของการขับเคลื่อนระบบเศรษฐกิจของประเทศไทย ซึ่งจะก่อให้เกิดการพัฒนาองค์ความรู้ ความเข้าใจในความเสี่ยงที่ต้องรับมือและปรับตัวต่อผลกระทบที่เกี่ยวกับการลดการปล่อยก๊าซเรือนกระจก รวมไปถึงการประเมินการปล่อยก๊าซเรือนกระจกที่จะนำไปสู่การพัฒนา ระบบการปลูกพืชและการผลิตสินค้าเกษตร

และ 2) พิธีลงนามบันทึกข้อตกลงความร่วมมือทางวิชาการเพื่อค้นคว้าวิจัยกัญชา กัญชง เพื่อประโยชน์ในทางการแพทย์และเชิงพาณิชย์อย่างครบวงจร ระหว่าง กรมวิชาการเกษตร กับจุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย โดยมี อธิบดีกรมวิชาการเกษตร กับ ศ.ดร.บัณฑิต เอื้ออาภร อธิการบดีจุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย ร่วมลงนาม ซึ่งเป็นความร่วมมือทั้งด้านวิจัยและพัฒนาสายพันธุ์ ระบบการผลิต กัญชาและกัญชง และทดสอบสายพันธุ์กัญชา “เพชรชมพู 1-5” ซึ่งทางศูนย์วิจัยยาเสพติด วิทยาศาสตร์สาธารณสุข จุฬาฯ มีความเชี่ยวชาญเรื่องยาเสพติด เป็นศูนย์ที่ได้รับการรับรองจากองค์การอนามัยโลก (WHO Collaborating Centre for Research and Training in Drug Dependence)