ประชุม STEER ไทย-สิงคโปร์ แก้ปัญหาส่งออกไข่ ดันสิงคโปร์ขึ้นทะเบียนฟาร์มออร์แกนิกที่ผลิตไข่ไก่และไข่นกกระทาของไทย

นายจุรินทร์ ลักษณวิศิษฏ์ รองนายกรัฐมนตรีและรัฐมนตรีว่าการกระทรวงพาณิชย์ เปิดเผยว่า เมื่อเร็ว ๆ นี้ ได้เป็นประธานการประชุมกรอบความร่วมมือเพื่อเสริมสร้างความสัมพันธ์ทางเศรษฐกิจ ระหว่างไทยและสิงคโปร์ (Singapore–Thailand Enhanced Economic Relationship หรือ STEER) ครั้งที่ 6 ระดับรัฐมนตรี ร่วมกับ ดร.ตัน ซี เหล็ง รัฐมนตรีว่าการกระทรวงแรงงานและรัฐมนตรีว่าการกระทรวงการค้าและอุตสาหกรรมคนที่สองของสิงคโปร์ ที่โรงแรมสยามเคมปินสกี้ กรุงเทพฯ ซึ่งครั้งนี้ ไทยเป็นเจ้าภาพ ภายหลังก่อตั้งมาครบ 20 ปี

o 1gfq9eq4s1q0p114b1jkc3abn39t
ประชุม STEER ไทย-สิงคโปร์

โดยการประชุมครั้งนี้ มี 3 กิจกรรม ได้แก่ 1.การประชุม STEER ครั้งที่ 6 2.การทำ MOU ระหว่างไทยกับสิงคโปร์ 5 ฉบับ ระหว่างภาครัฐกับภาครัฐและเอกชนกับเอกชน 3.กิจกรรมจับคู่ธุรกิจออนไลน์ (Online Businesses Matching หรือ OBM) ระหว่างผู้ส่งออกไทย 33 บริษัทและผู้นำเข้าจากสิงคโปร์ 11 บริษัทรวมเป็น 44 บริษัท คาดว่าสามารถซื้อขายกันได้ประมาณ 30 ล้านบาท

สำหรับการประชุม STEER ครั้งที่ 6 ไทยได้หยิบยกประเด็นสำคัญ 5 ด้าน ประกอบด้วย 1.ด้านสินค้าเกษตร 2.ด้านเศรษฐกิจดิจิทัล 3.ด้านการลงทุน 4.ด้านการส่งออกสินค้าไทยไปสิงคโปร์ และ 5.ด้านทรัพย์สินทางปัญญา โดยรายละเอียดแต่ละด้าน เช่น ด้านสินค้าเกษตร ตนขอให้สิงคโปร์ช่วยขึ้นทะเบียนฟาร์มออร์แกนิกที่ผลิตไข่ไก่และไข่นกกระทาของไทย เพื่อให้ไทยส่งไข่ไก่และไข่นกกระทาออร์แกนิกไปสิงคโปร์ได้ จะช่วยสัดส่วนความมั่นคงทางอาหารให้สิงคโปร์ด้วย และสำหรับฟาร์มไข่ไก่ทั่วไป สิงคโปร์ขึ้นทะเบียนให้ไทยแล้ว 46 ฟาร์ม ส่วนเรื่องสินค้าเกษตร เช่น การขอให้สิงคโปร์ยืดหยุ่นกฎระเบียบในการตรวจรับรองฟาร์มไข่ไก่ของไทยให้รวดเร็วโดยไม่ต้องตรวจซ้ำซ้อนทั้ง 2 ประเทศ ทางสิงคโปร์รับไปพิจารณาต่อไป

ด้านเศรษฐกิจดิจิทัล ที่ประเทศไทยต้องการทำธุรกรรมทางธุรกิจกับนักธุรกิจสิงคโปร์ในรูปแบบอิเล็กทรอนิกส์มากขึ้น ลดการใช้กระดาษ เพื่อความคล่องตัวและสะดวกของทั้ง 2 ประเทศ ทางสิงคโปร์รับหารือร่วมกันกับหน่วยงานของไทยต่อไป และอยากให้สำนักงานคณะกรรมการคุ้มครองผู้บริโภค (สคบ.) ไทยและสิงคโปร์ ร่วมคุ้มครองผู้บริโภคที่ทำธุรกรรมออนไลน์มากขึ้น ซึ่งรัฐมนตรีสิงคโปร์จะไปกำกับดูแลแพลตฟอร์มให้มากขึ้น

ด้านการลงทุน ได้เชิญชวนให้นักลงทุนสิงคโปร์ลงทุนใน EEC ในภาคธุรกิจ BCG กับเศรษฐกิจดิจิทัลในไทยมากขึ้น ด้านการส่งออก ได้เชิญให้สิงคโปร์ร่วมงาน STYLE Bangkok ที่จะจัดในเดือนมี.ค.2566 งาน THAIFEX–ANUGA Asia 2023 เดือนพ.ค.2566 และงาน Bangkok Gems & Jewelry Fair เดือน ก.ย.2566 ซึ่งรัฐมนตรีรับปากจะเชิญชวนนักธุรกิจสิงคโปร์และผู้ประกอบการเข้าร่วมงาน

ด้านทรัพย์สินทางปัญญา ต้องการให้ความร่วมมือด้านทรัพย์สินทางปัญญาไทยกับสิงคโปร์เป็นไปอย่างใกล้ชิดยิ่งขึ้น โดยเฉพาะการจดทะเบียนสิทธิบัตรของ 2 ประเทศ ให้มีการรับรองผลการตรวจสิทธิบัตรของประเทศใดประเทศหนึ่งแล้ว ให้ถือเสมือนผ่านการตรวจสอบอีกประเทศหนึ่งด้วย จะทำให้การจดทะเบียนสิทธิบัตรของ 2 ประเทศรวดเร็วขึ้น ไม่ต้องตรวจซ้ำซ้อน ซึ่งท่านรัฐมนตรีสิงคโปร์เห็นชอบด้วย

นายจุรินทร์ กล่าวว่า สิงคโปร์ได้หยิบยก 3 ประเด็นสำคัญ โดยประเด็นแรก สิงคโปร์สนับสนุนนักธุรกิจของสิงคโปร์ให้มาลงทุนในประเทศไทย โดยเฉพาะด้านพลังงาน รถอีวี การให้บริการทั้งคำปรึกษาและด้านอื่น ๆ ที่เกี่ยวกับสมาร์ทซิตี้ของไทย และสนใจแนวทางลดคาร์บอนนำไปสู่การได้คาร์บอนเครดิตของทั้ง 2 ประเทศร่วมกัน ประเด็นที่ 2 ความร่วมมือด้านการลงทุนและธุรกิจการท่องเที่ยวเรือสำราญได้มีการหารือกัน และสุดท้ายประเด็นทรัพย์สินทางปัญญาซึ่งเห็นตรงกันในเรื่องการไม่ต้องตรวจการจดทะเบียนสิทธิบัตรซ้ำซ้อน

ทั้งนี้ ผลการหารือทั้งหมด นำมาซึ่งผลสรุปร่วมกัน 5 ประเด็น ได้แก่ 1.ไทยกับสิงคโปร์จะร่วมกันสร้างความเชื่อมั่นกับผู้บริโภคที่ซื้อขายสินค้าบริการผ่านแพลตฟอร์มออนไลน์ โดยจะเร่งเจรจาแลกเปลี่ยนข้อมูลและกำหนดแนวทางร่วมกันต่อไป 2.สิงคโปร์จะพิจารณาการขึ้นทะเบียนฟาร์มไข่ไก่และไข่นกกระทาออร์แกนิคให้ประเทศไทย โดยมอบหมายให้ อย.สิงคโปร์เจรจากับกรมปศุสัตว์ไทยต่อไป 3.สิงคโปร์ยินดีเข้าร่วมงานแฟร์ที่ประเทศไทยจัดขึ้นโดยจะเชิญนักธุรกิจและภาคเอกชนเข้าร่วม

4.สิงคโปร์ยินดีที่จะหารือเรื่องการใช้เอกสารทำธุรกรรมทางธุรกิจผ่านระบบอิเล็กทรอนิกส์ให้มากขึ้น และ 5.การลงทุนและการทำธุรกิจเรือสำราญ กระทรวงการท่องเที่ยวและกีฬาจะเร่งหารือกับผู้แทนฝ่ายสิงคโปร์ จัดตั้งคณะทำงานร่วมกันขึ้นมา เพื่อส่งเสริมการลงทุนเรื่องท่าเรือ การท่องเที่ยวผ่านเรือสำราญ เพื่อประโยชน์ด้านการท่องเที่ยวและการลงทุนของ 2 ประเทศ โดยตลาดเรือสำราญท่องเที่ยวมีตัวเลขสูงทั้งโลกประมาณ 1.5 หมื่นล้านเหรียญสหรัฐ หรือประมาณ 5.5 แสนล้านบาท ขณะนี้กลุ่มประเทศอาเซียนมี ส่วนแบ่งการตลาดแค่ 0.2% ยังมีโอกาสพัฒนาอีกเยอะ

สำหรับเรื่อง MOU ได้มีการลงนาม 5 ฉบับ ได้แก่ ฉบับที่ 1 การลงนามระหว่างกรมทรัพย์สินทางปัญญาของไทยกับสิงคโปร์ เรื่องการไม่ตรวจสิทธิบัตรซ้ำซ้อน ฉบับที่ 2 ระหว่างผู้ส่งออกไก่ของไทยกับผู้ค้าเนื้อไก่ในสิงคโปร์ ฉบับที่ 3 ผู้ส่งออกเนื้อหมูไทยกับผู้ค้าขายเนื้อสัตว์ของสิงคโปร์ ฉบับที่ 4 บันทึกความเข้าใจสิงคโปร์จะให้คำปรึกษาด้านการผลิตภาคเกษตรของไทย ที่จะนำไปสู่การได้คาร์บอนเครดิตเพิ่มขึ้น และฉบับที่ 5 ปตท.ลงนามกับบริษัท สลีค อีวี จำกัด ของสิงคโปร์ เพื่อให้ ปตท. เป็นศูนย์บริการเปลี่ยนถ่ายแบตเตอรี่ให้กับรถมอเตอร์ไซต์ไฟฟ้าที่ผลิตในสิงคโปร์

ทางด้านมูลค่าการค้าระหว่างไทยกับสิงคโปร์ในช่วง 8 เดือนของปี 2565 (ม.ค.-ส.ค.) มีมูลค่า 436,000 ล้านบาท เพิ่มขึ้น 32% ไทยส่งออกไปสิงคโปร์ 240,000 ล้านบาท เพิ่ม 35% สินค้าที่ส่งออกไปสิงคโปร์สำคัญ เช่น อัญมณี น้ำมันสำเร็จรูป แผงวงจรไฟฟ้า เครื่องคอมพิวเตอร์ และอาหาร เช่น ไก่ ไข่ เนื้อสัตว์อื่น และเครื่องดื่ม เป็นต้น สินค้าที่ไทยนำเข้าจากสิงคโปร์ เช่น เครื่องคอมพิวเตอร์และอุปกรณ์ เคมีภัณฑ์ แผงวงจรไฟฟ้า ทองคำแท่ง เป็นต้น