การค้ากว่างซีกับประเทศไทยส่งสัญญาณฟื้นตัวดีขึ้น

ที่ผ่านมา รัฐบาลกว่างซีได้ดำเนินมาตรการเพื่อรักษาเสถียรภาพและเสริมสร้างความแข็งแกร่งให้กับการค้าต่างประเทศของมณฑล อาทิ

1.การจัดทำบัญชีรายชื่อบริษัท (White List) ในการนำเข้า-ส่งออกสินค้า เพื่อรักษาเสถียรภาพให้กับห่วงโซ่การผลิตและห่วงโซ่อุปทาน โดยเฉพาะบริษัทที่ต้องนำเข้า/จัดหาวัตถุดิบเพื่อป้อนสู่กระบวนการผลิต โดยเฉพาะในอุตสาหกรรมยานยนต์ แผงวงจรรวม อุปกรณ์อิเล็กทรอนิกส์สำหรับผู้บริโภค (consumer electronics) และการผลิตอุปกรณ์ (equipment manufacturing)

2.การบูรณาการระบบงานขนส่งเพื่อให้ตอบสนองความต้องการของผู้ใช้งาน ทั้งทางราง ทางถนน ทางทะเล และทางอากาศ

3.การพัฒนาแพลตฟอร์มห่วงโซ่อุปทานสำหรับการนำเข้าสินค้าโภคภัณฑ์ (bulk) อาทิ น้ำมันดิบ สินแร่โลหะ ถ่านหิน และถั่วเหลือง

4.การจัดกิจกรรมกาพบปะหารือกับระหว่างภาครัฐ ภาคเอกชน และภาคธนาคาร เพื่อขับเคลื่อนกิจกรรมทางเศรษฐกิจ และการพัฒนาผลิตภัณฑ์สินเชื่อในรูปแบบเงินกู้สกุลเงินตราต่างประเทศ (Foreign Currency Loan) เพื่อช่วยเหลือภาคธุรกิจในการเข้าถึงแหล่งเงินทุนที่เป็นสกุลเงินต่างประเทศ ปัจจุบัน มีบริษัทนำเข้า-ส่งออกที่อยู่ในบัญชีรายชื่อแล้ว 479 ราย

5.การส่งเสริมภาคธุรกิจ Cross-Border e-Commerce หรือ CBEC เช่น การก่อสร้างเขตนำร่องการค้า CBEC ในนครหนานหนิงและเมืองฉงจั่ว (เมืองชายแดนติด จ.หล่างเซิน เวียดนาม) นโยบายการคืนภาษีส่งออกสำหรับสินค้า CBEC การส่งเสริมให้ภาคธุรกิจออกไปจัดตั้งคลังสินค้า CBEC ในต่างประเทศ (ในเวียดนามมีอยู่ 13 แห่ง)

เมื่อดูจากไตรมาสที่ 3/2565 สถานการณ์การค้าต่างประเทศของเขตปกครองตนเองกว่างซีจ้วงส่งสัญญาณฟื้นตัวดีขึ้นอย่างต่อเนื่อง แม้ว่าในภาพรวม อัตราขยายตัวจะยังอยู่ในแดนลบเมื่อเทียบกับช่วงเดียวกันของปีก่อน แต่มูลค่ารายเดือนมีแนวโน้มเพิ่มขึ้นอย่างต่อเนื่อง จบไตรมาสที่ 3 การค้าต่างประเทศของกว่างซีมีมีมูลค่ารวม 435,393 ล้านหยวน ลดลง 2.1% (YoY) แบ่งเป็นมูลค่าส่งออก 229,155 ล้านหยวน (+4.5%) และมูลค่านำเข้า 206,238 ล้านหยวน (-8.6%)

กลุ่มประเทศสมาชิกอาเซียน ยังเป็นคู่ค้ารายใหญ่ของกว่างซี ครองสัดส่วน 39.71% ของมูลค่ารวม โดยสองฝ่ายมีมูลค่าการค้าระหว่างกันรวม 172,881 ล้านหยวน (-18.9%) แบ่งเป็นมูลค่าส่งออก 122,156 ล้านหยวน (-2.1%) และมูลค่านำเข้า 50,724 ล้านหยวน (-42.6%) ทั้งนี้ อาเซียนเป็นฝ่ายเสียดุลการค้าให้กว่างซี 71,431 ล้านหยวน

สถิติการค้ารายประเทศระหว่างเขตฯ กว่างซีจ้วงกับประเทศสมาชิกอาเซียน หลังจบไตรมาส 3/2565

2022 11 03 3 1024x457 1

การชะลอตัวทางการค้าของกว่างซีกับประเทศคู่ค้ารายสำคัญอย่างเวียดนามและไทยถือเป็นปัจจัยสำคัญที่ส่งผลให้การค้าระหว่างกว่างซีกับอาเซียนหดตัวลงเมื่อเทียบกับช่วงเดียวกันของปีก่อน เพราะมีสัดส่วนมากกว่า 80% ของการค้าระหว่างกว่างซีกับอาเซียน ขณะที่การค้ากับประเทศสมาชิกที่เหลือมีแนวโน้มขยายตัวได้ดี ทั้งมาเลเซีย (+25.2%) อินโดนีเซีย (+56.1%) ฟิลิปปินส์ (+99.6%) สิงคโปร์ (+55.2%) กัมพูชา (+62.4%) เมียนมา (+94.2%) และบรูไน (+470.1%) ส่วน สปป.ลาว (-56.8%)

การค้ากับ ‘ประเทศไทย’ มีมูลค่ารวม 18,779.99 ล้านหยวน ลดลง 54.5% แบ่งเป็นมูลค่าส่งออก 8,985.95 ล้านหยวน (+139.2%) และมูลค่านำเข้า 9,794.03 ล้านหยวน (-73.9%) โดยประเทศไทยเป็นฝ่ายได้ดุลการค้ากว่างซี 808.08 ล้านหยวน โดยประเทศไทยเป็นคู่ค้ารายใหญ่อันดับ 3 ของกว่างซี ด้วยสัดส่วนการค้า 4.31% เป็นรองเพียงเวียดนาม (สัดส่วน 27.9%) และฮ่องกง (สัดส่วน 7.03%)

สินค้านำเข้า-ส่งออกที่สำคัญระหว่างกว่างซีกับประเทศไทย ได้แก่ อุปกรณ์อิเล็กทรอนิกส์ (อาทิ ฮาร์ดดิสก์ไดร์ฟ สื่อบันทึกที่ใช้แม่เหล็ก มือถือ ชิ้นส่วนอุปกรณ์สื่อสารไร้สาย หน่วยขับแถบบันทึก) สินค้าที่ปฏิบัติพิธีการศุลกากรแบบเรียบง่ายในการตรวจปล่อย สินค้าเกษตร (ทุเรียน มันสำปะหลังแห้งและสตาร์ช มังคุด)

%E0%B8%97%E0%B8%B8%E0%B9%80%E0%B8%A3%E0%B8%B5%E0%B8%A2%E0%B8%99 7
ทุเรียนไทย

สถิติด้านการขนส่งสินค้าระหว่างประเทศของเขตฯ กว่างซีจ้วง หลังจบไตรมาส 3/2565 มีดังนี้

1.การขนส่งสินค้าทางรถไฟ

– เที่ยวรถไฟขนส่งสินค้าในโมเดลการขนส่ง “เรือ+ราง” มีทั้งหมด 6,557 เที่ยว เพิ่มขึ้น 46%

–เที่ยวรถไฟขนส่งสินค้าจีน+เวียดนานผ่าน “ด่านรถไฟผิงเสียง” มีทั้งหมด 1,786 เที่ยว เพิ่มขึ้น 33.68% ในจำนวนนี้ เป็นเที่ยวรถไฟจากท่าสถานีรถไฟระหว่างประเทศนครหนานหนิง 229 เที่ยว เพิ่มขึ้น 11%

2.การขนส่งสินค้าทางทะเล

– กลุ่มท่าเรือรอบอ่าวเป่ยปู้ มีปริมาณขนถ่ายตู้สินค้า 4.698 ล้าน TEUs เพิ่มขึ้น 18.99%

3.การขนส่งสินค้าทางอากาศ

– ท่าอากาศยานนานาชาติอู๋ซวีนครหนานหนิง มีเส้นทางขนส่งสินค้าระหว่างประเทศ 13 เส้นทาง มีปริมาณขนถ่ายสินค้า 52,000 ตัน เพิ่มขึ้น 313% (YoY)

4.การขนส่งสินค้าทางถนน

– ด่านพรมแดนทางบก 7 แห่ง (เปิดด่านครบทั้ง 7 แห่ง ตั้งแต่ 5 พ.ค. 2565) มีปริมาณรถบรรทุกผ่านเข้า-ออกด่านเฉลี่ยมากกว่าวันละ 1,500 คัน โดย ‘ด่านโหย่วอี้กวาน’ เป็นด่านทางบกเพียงแห่งเดียวของจีนที่เปิดให้ทั้งคนและรถผ่านเข้า-ออกได้

ที่มา ศูนย์ข้อมูลเพื่อธุรกิจไทยในจีน