กรมวิชาการเกษตร-ภาคเอกชน นำร่องจัดทำ Baseline การปลดปล่อยก๊าซเรือนกระจกในพืชเศรษฐกิจหลัก

กรมวิชาการเกษตร องค์การบริหารจัดการก๊าซเรือนกระจก(องค์การมหาชน) สำนักงานพัฒนาเทคโนโลยีอวกาศและภูมิสารสนเทศ(องค์การมหาชน)องค์กรความร่วมมือของประเทศเยอรมนี (GIZ)ร่วมกับภาคเอกชนนำร่องจัดทำ Baseline การปลดปล่อยก๊าซเรือนกระจกในพืชเศรษฐกิจหลัก อ้อยยางพารา ปาล์มน้ำมัน มันสำปะหลัง ไม้ผล (ทุเรียน มะม่วง)

นายระพีภัทร์ จันทรศรีวงศ์  อธิบดีกรมวิชาการเกษตร ในฐานะประธานอาเซียนด้านการเปลี่ยนแปลงสภาพภูมิอากาศ (ASEAN Climate Resilience Network: ASEAN-CRN) กล่าวว่า จากการประชุม APEC ซึ่งไทยได้ให้ความสำคัญและเน้นย้ำการพัฒนา ทางเศรษฐกิจผ่านนโยบาย Bio-Circular  Green Economy (BCG) การลดการปลดปล่อยก๊าซเรือนกระจก  สู่เป้าหมาย Net Zero การพัฒนาระบบคาร์บอนเครดิต ภาคการเกษตร ความมั่นคงทางอาหาร (Food Security) และเทคโนโลยีการเกษตรสมัยใหม่

กรมวิชาการเกษตร และ องค์การบริหารจัดการก๊าซเรือนกระจก (องค์การมหาชน) ได้ทำ MOU ร่วมกัน ก่อให้เกิดการสนับสนุนทั้งด้านการพัฒนา และผลักดันการจัดการคาร์บอนเครดิต  รวมทั้งเสริมสร้างการตอบสนองต่อภัยคุกคามจากการเปลี่ยนแปลงสภาพภูมิอากาศของโลกได้อย่างยั่งยืน มีการสร้างการสร้างและเผยแพร่ความรู้ความเข้าใจเกี่ยวกับการบริหารจัดการก๊าซเรือนกระจก และ ร่วมกันสนับสนุนและส่งเสริมการดำเนินโครงการลดก๊าซเรือนกระจกภาคสมัครใจตามมาตรฐานของประเทศไทย T-VER (Thailand Voluntary Emission Reduction Program) ในพืชเศรษฐกิจสำคัญ

DDFAAB82 C58E 4574 8EFC 1F19F1FC114D

การพัฒนาโครงการลดก๊าซเรือนกระจกภาคสมัครใจตามมาตรฐานของประเทศไทย (T-VER) กรมวิชาการเกษตร ร่วมกับ องค์การบริหารจัดการก๊าซเรือนกระจก (องค์การมหาชน) มหาวิทยาลัยเกษตรศาสตร์ กรมพัฒนาที่ดิน กรมป่าไม้ สำนักงานพัฒนาวิทยาศาสตร์และเทคโนโลยีแห่งชาติสำนักงานพัฒนาเทคโนโลยีอวกาศและภูมิสารสนเทศ (องค์การมหาชน) องค์กรความร่วมมือของประเทศเยอรมนี และสมาคมดินและปุ๋ยแห่งประเทศไทย ดึง บริษัทน้ำตาลมิตรผล จำกัด บริษัท ทักษิณปาล์ม(2521) จำกัด บริษัท วรุณา ประเทศไทย จำกัด บริษัท สยาม ควอลิตี้ สตาร์ช จำกัด บริษัท ราชสีมา กรีน สตาร์ช จำกัด บริษัท ไทยอิสเทิร์น กรุ๊ป โฮลดิ้งส์ จำกัด (มหาชน) บริษัท อาร์ดีเกษตรพัฒนา จำกัด บริษัทบูรพา เทคนิคอล เอ็นจิเนียริ่ง จำกัด (มหาชน) บริษัท เนทซีโรคาร์บอน จำกัด และ บริษัท เวฟ บีซีจี จำกัด

เพื่อขับเคลื่อนการลดก๊าซเรือนกระจกนำร่องในพืชเป้าหมาย คือ อ้อย ในพื้นที่จังหวัด เชียงใหม่ ขอนแก่นนครสวรรค์ สุพรรณบุรี และอุทัยธานี ปาล์มน้ำมัน ในพื้นที่จังหวัด สุราษฎร์ธานี และกระบี่ มันสำปะหลังในพื้นที่จังหวัด อุทัยธานี ระยอง ราชบุรี นครราชสีมา ขอนแก่น กาญจนบุรี ชลบุรี ชัยภูมิ และฉะเชิงเทรายางพารา ในพื้นที่จังหวัด จันทบุรี ฉะเชิงเทรา ชลบุรี สงขลา ไม้ผล (ทุเรียนและมะม่วง) ในพื้นที่จังหวัด จันทุบรี ศรีสะเกษ สุโขทัย และขอนแก่น

คาดว่าภายหลังความร่วมมือระหว่างกรมวิชาการเกษตรและภาคเอกชน จะได้รูปแบบวิธีการ หรือแนวทางปฏิบัติในการลดก๊าซเรือนกระจกของพืชเศรษฐกิจที่สำคัญ ได้ baseline ในพืชแต่ละชนิด มีพื้นที่ที่เข้าสู่โครงการ T-VER เพื่อขอรับรองคาร์บอนเครดิต มีแปลงต้นแบบในการจัดการเพื่อลดการปลดปล่อยก๊าซเรือนกระจกของพืชเศรษฐกิจสำคัญในพื้นที่ต่างๆ ของประเทศ มีแนวทางในการพัฒนา GAP Carbon Credit Plus มีการลดการปลดปล่อยก๊าซเรือนกระจกในภาพรวมขององค์กร และท้ายที่สุดบุคลากรของกรมวิชาการเกษตร จะได้รับการรับรองเป็นผู้ตรวจประเมิน (VVB)

0C4B4F5B 917B 4E54 9527 BDF0BCC50B89

ผลที่จะได้รับจากความร่วมมือในครั้งนี้จะทำให้การปลดปล่อยก๊าซเรือนกระจกในภาคการเกษตรของประเทศจะลดลง และเกษตรกรจะมีคาร์บอนเครดิตจากการดำเนินการเกษตรดีที่เหมาะสม คือ มีปริมาณก๊าซเรือนกระจกที่ลดลง หรือ กักเก็บได้ จากการดำเนินโครงการลดก๊าซเรือนกระจกผ่านกลไกการลดก๊าซเรือนกระจกต่างๆ ทั้งในประเทศและต่างประเทศ มีหน่วยเป็นต้นคาร์บอนไดออกไซด์เทียบเท่า และสามารถนำคาร์บอนเครดิตไปแลกเปลี่ยนหรือซื้อขาย เพื่อนำไปใช้ประโยชน์ได้ ไม่ว่าจะเป็น การนำปริมาณก๊าซเรือนกระจกที่ลดได้จากการดำเนินงานไปรายงาน และนำไปใช้ชดเชยการปล่อยก๊าซเรือนกระจกจากองค์กร บุคคล งานบริการ หรือจากการผลิตผลิตภัณฑ์ต่างๆ” อธิบดีกรมวิชาการเกษตร  กล่าว