รัฐบาลเตรียมช่วยชาวสวนยาง มอบ กยท.ทำรายละเอียดโครงการประกันรายได้-สินเชื่อหมุนเวียนผู้ประกอบการไม้ยาง เสนอเข้า ครม.

น.ส.ไตรศุลี ไตรสรณกุล รองโฆษกประจำสำนักนายกรัฐมนตรี เปิดเผยว่า พล.อ.ประยุทธ์ จันทร์โอชานายกรัฐมนตรีและรมว.กลาโหมและรัฐบาลให้ความสำคัญกับการติดตามสถานการณ์ทั้งผลผลิตและราคาสินค้าเกษตรและมีมาตรการหรือแนวทางช่วยเหลือ ให้เกษตรมีระดับรายได้ที่สอดคล้องกับภาวะเศรษฐกิจ พร้อมกับมีมาตรการคู่ขนานเพื่อให้เกิดการดูแลสินค้าเกษตรแต่ละชนิดอย่างรอบด้าน

ล่าสุด รัฐบาลอยู่ระหว่างพิจารณาให้ความช่วยเหลือเกษตรกรชาวสวนยางซึ่งได้รับผลกระทบจากสถานการณ์ราคายางที่ปรับตัวลดลง ซึ่งสำนักงานคณะกรรมการเศรษฐกิจและสังคมแห่งชาติ(สศช.) ได้ระบุในรายงานภาวะเศรษฐกิจไตรมาส4/65 ถึงราคายางพาราที่ปรับตัวลดลงร้อยละ 13.7 

โดยที่ประชุมคณะรัฐมนตรี(ครม.) เมื่อวันที่ 21 ก.พ. 66 ได้รับทราบตามที่กระทรวงเกษตรและสหกรณ์เสนอเกี่ยวกับการดำเนินการตามมติคณะกรรมการนโยบายยางธรรมชาติ (กนย.) ที่นายกรัฐมนตรีเป็นประธาน และมอบหมายให้การยางแห่งประเทศไทย(กยท.) จัดทำรายละเอียดเสนอให้ ครม. พิจารณาอนุมัติเพื่อดำเนินการตามขั้นตอนต่อไป

น.ส.ไตรศุลี กล่าวว่า การดำเนินการตามมติ กนย. ประกอบด้วย โครงการประกันรายได้เกษตรกรชาวสวนยาง ระยะที่ 4 โดยเป็นการประกันรายได้ให้ชาวสวนยางที่ขึ้นทะเบียนและแจ้งข้อมูลพื้นที่กับ กยท. ภายในวันที่ 30 มิ.ย. 2565 จำนวน 1,604,379 ราย แบ่งเป็น เจ้าของสวน ผู้เช่า ผู้ทำ 1,372,865 ราย และคนกรีดยาง 231,514 ราย 

โดยเป็นสวนยางอายุ 7 ปีขึ้นไปที่เปิดกรีดแล้ว พื้นที่รวม 18.18 ล้านไร่ ระยะเวลาประกันรายได้ 2 เดือน(ต.ค. – พ.ย.2565) ภายใต้กรอบงบประมาณรวม 7,643  ล้านบาท

พร้อมกันนี้มีโครงการสนับสนุนสินเชื่อเป็นเงินทุนหมุนเวียนแก่ผู้ประกอบกิจการไม้ยางและผลิตภัณฑ์ระยะที่ 2วงเงิน 20,000 ล้านบาท ระยะเวลาดำเนินการของโครงการ 2 ปี โดยโครงการนี้รัฐบาลจะช่วยแบ่งเบาภาระผู้ประกอบการโดยการชดเชยดอกเบี้ย ตามโครงการฯ 1 ปี โดยชดเชยไม่เกินร้อยละ 3 ต่อปี

น.ส.ไตรศุลี กล่าวว่า ครม.ยังได้รับทราบถึงกรณีที่รัฐอิลลินอยส์ สหรัฐฯ ได้มีการบังคับใช้กฎหมายห้ามใช้ถุงมือยางลาเท็กซ์ในกลุ่มธุรกิจบริการอาหาร และกลุ่มการให้บริการทางการแพทย์ ซึ่งเรื่องนี้ กนย.ได้มอบหมายกระทรวงเกษตรฯ โดย กยท.  กระทรวงพาณิชย์ กระทรวงอุตสาหกรรม ร่วมกับหน่วยงานที่เกี่ยวข้อง เพื่อดำเนินการแก้ไขปัญหาในเรื่องนี้ โดยเร่งด่วน

รวมถึงรับทราบความคืบหน้าของแผนปฏิบัติการด้านยางพารา พ.ศ. 2566-80 (ระยะ 15 ปี) ซึ่งจะเป็นแผนที่เป็นกรอบการพัฒนายางพาราอย่างรอบด้าน โดย กยท. อยู่ระหว่างการปรับปรุงแผนละจะเริ่มนำแผนไปสู่การปฏิบัติตั้งแต่ปี 66 เป็นต้นไป