พาณิชย์โคราช จับมือ พาณิชย์สมุทรสาคร จัดเจรจาธุรกิจ”สินค้าเกลือทะเล” “กลุ่มเกษตรกร” สนใจนำไปใช้ปรับสภาพดิน

นายศารุมภ์ โหม่งสูงเนิน พาณิชย์จังหวัดนครราชสีมา เปิดเผยว่า สำนักงานพาณิชย์จังหวัดนครราชสีมาได้ร่วมกับสำนักงานพาณิชย์จังหวัดสมุทรสาคร จัดกิจกรรมโครงการเพิ่มศักยภาพการจำหน่ายสินค้าและบริการกิจกรรม “พัฒนาตลาดสินค้าเกลือทะเล” สมุทรสาครสู่สากล โดยนำผู้ผลิตเกลือทะเลจังหวัดสมุทรสาครมาพบกับผู้ประกอบการจังหวัดนครราชสีมา ได้แก่ สหกรณ์จังหวัดนครราชสีมา หอการค้า สภาอุตสาหกรรม เครือข่ายธุรกิจ MOC Biz Club สมาพันธ์เอสเอ็มอี เครือข่าย Young Smart Farmer เพื่อร่วมเจรจาธุรกิจส่งเสริม “ตลาดเกลือทะเล” ณ โรงแรมปัจดารา อำเภอเมืองนครราชสีมา

ทั้งนี้ผลการจัดเจรจาจับคู่ธุรกิจ ได้รับความสนใจจากผู้ประกอบการในจังหวัดนครราชสีมาเดินทางเข้าร่วมการเจรจากับผู้จำหน่าย “เกลือทะเลสมุทรสาคร” เป็นอย่างมาก มีทั้งผู้ประกอบการโรงแรม ผู้ผลิตอาหาร และ”กลุ่มเกษตรกร” โดยต้องการนำเกลือไปใช้ในการถนอมอาหาร เช่น ทำปลาร้า ปรุงอาหาร ส่วนกลุ่มโรงแรมสนใจไปใช้ทำอาหาร และให้บริการสปาในโรงแรม ขณะที่”กลุ่มเกษตรกร” ต้องการไปใช้เพื่อปรับสภาพดิน เป็นต้น ขณะนี้กำลังอยู่ระหว่างการเจรจาเพื่อทำการซื้อขาย โดยคาดว่าจะตกลงกันได้ในเร็ว ๆ นี้

62abeb47398c2
สินค้าเกลือทะเล

การจัดกิจกรรมเชื่อมโยงดังกล่าวไม่เพียงแต่ช่วยเพิ่มโอกาสในการ“ขายเกลือทะเล” ให้กับผู้ผลิตเกลือในจังหวัดสมุทรสาครแต่ยังเป็นการช่วยหาวัตถุดิบเกลือคุณภาพดี ให้กับผู้ประกอบการในพื้นที่จังหวัดนครราชสีมาด้วย ซึ่งสำนักงานฯ มีแผนที่จะร่วมมือกับสำนักงานพาณิชย์จังหวัดอื่น ๆ เพื่อจัดกิจกรรมเจรจาจับคู่ธุรกิจในสินค้าเด่น สินค้าดี ของแต่ละจังหวัดต่อไป รวมถึงการนำสินค้าเด่น ดัง ของจังหวัดนครราชสีมาไปขายในจังหวัดอื่น ๆ นายศารุมภ์กล่าว

สำหรับ “เกลือสมุทร” หรือ “เกลือทะเล” (Sea Salt) เป็นเกลือที่ผลิตขึ้นโดยการนำน้ำทะเลขึ้นมาตากแดดให้น้ำระเหยไปเหลือแต่ผลึกเกลือตกอยู่ เกลือประเภทนี้มีการผลิตและมีการซื้อขายเป็นสินค้าการใช้มาตั้งแต่สมัยโบราณและถือเป็นอาชีพเก่าแก่อาชีพหนึ่งของโลกและของคนไทย โดยได้มีการกำหนดเป็นสินค้าเกษตรกรรมขั้นต้นตามพระราชบัญญัติธนาคารเพื่อการเกษตรและสหกรณ์การเกษตร พ.ศ. 2509

ต่อมามีมติคณะรัฐมนตรีเมื่อวันที่ 1 มีนาคม พ.ศ. 2554 ให้การ “ทำนาเกลือทะเล” เป็นส่วนหนึ่งของ“เกษตรกรรม”แหล่งผลิตเกลือทะเลที่สำคัญของประเทศไทยแบ่งออกเป็น 2 กลุ่ม ดังนี้

  1. กลุ่มที่มีการผลิตมาก ประมาณร้อยละ 98 ของผลผลิตทั้งประเทศ อยู่ที่ 3 จังหวัด ภาคกลาง คือ จังหวัดเพชรบุรี สมุทรสาคร และสมุทรสงคราม
  2. กลุ่มที่มีการผลิตเล็กน้อย ประมาณร้อยละ 2 ของผลผลิตทั้งประเทศ อยู่ที่ 4 จังหวัดในภาคกลางและภาคใต้ คือ จังหวัดชลบุรี จันทบุรี ฉะเชิงเทรา และปัตตานี

ประเทศไทยมีพื้นที่ทำนาเกลือทั้งหมดประมาณ 81,485 ไร่ โดยจังหวัดเพชรบุรีมีพื้นที่มากที่สุดร้อยละ 47.0 รองลงมาได้แก่ จังหวัดสมุทรสาคร ร้อยละ 43.1 จังหวัดสมุทรสงคราม ร้อยละ 7.7 จังหวัดชลบุรี ร้อยละ 1.0 จังหวัดจันทบุรี ร้อยละ 0.6 จังหวัดปัตตานี ร้อยละ 0.4 และจังหวัดฉะเชิงเทราร้อยละ 0.2 ตามลำดับ