เกษตรฯเสนอ”วิถีควายทะเลน้อย”เป็น“มรดกทางการเกษตรโลก”

กระทรวงเกษตรและสหกรณ์ ยื่น FAO ขอรับรอง “วิถีการเลี้ยงควายและเกษตรเชิงนิเวศในพื้นที่ทะเลน้อย” เป็น “มรดกทางการเกษตรโลก”

ดร.ทองเปลว กองจันทร์ ปลัดกระทรวงเกษตรและสหกรณ์ เปิดเผยว่า กระทรวงเกษตรและสหกรณ์ได้ยื่นเอกสารขอรับรอง “วิถีการเลี้ยงควายและเกษตรเชิงนิเวศในพื้นที่ทะเลน้อย” เป็น “มรดกทางการเกษตรโลก” (Globally Important Agricultural Heritage System หรือ GIAHS) จากองค์การอาหารและเกษตรแห่งสหประชาชาติ หรือ FAO 

7082FAC9 C86A 413E A510 ECEAFA988424

โดยพื้นที่ดังกล่าวมีความสำคัญเป็นพื้นที่ที่มีความหลากหลายทางชีวภาพสูงมากจนได้รับการประกาศให้เป็นเขตพื้นที่ชุ่มน้ำโลก หรือ “Ramsar site” และมีความสอดคล้องกับหลักเกณฑ์ของ FAO ในการเป็นมรดกทางการเกษตร ที่เน้นการอนุรักษ์มรดกทางการเกษตรโลก เพื่อสร้างความมั่นคงทางอาหารและพัฒนาเศรษฐกิจ ปกป้องและส่งเสริมการใช้ทางชีวภาพให้สอดคล้องกับวัฒนธรรมท้องถิ่นและยั่งยืนบริเวณพื้นที่ชุ่มน้ำทะเลน้อย มีวิถีชีวิตที่มีความเชื่อมโยงกับควายน้ำทะเลน้อย ที่สืบทอดการเลี้ยงควายมายาวนานมากว่า 250 ปี

สำหรับเกษตรกรในพื้นที่ชุ่มน้ำทะเลน้อย มีรายได้หลักจากการขายควาย ประกอบกับการทำประมง ปลูกข้าว และแปรรูปผลิตภัณฑ์จากกระจูด ด้านระบบนิเวศ เมื่อถึงฤดูน้ำหลาก น้ำในทะเลน้อยมีปริมาณสูงควายน้ำจะดำน้ำลงไปกินหญ้าใต้น้ำและพืชน้ำอย่างสายบัว ใบบัว หรือสาหร่าย กระจูด ซึ่งมีความสำคัญต่อระบบนิเวศในการกำจัดวัชพืช และมูลของควายยังเป็นอาหารให้กับพืชและแพลงตอน ซึ่งเป็นอาหารปลา และในส่วนของด้านวัฒนธรรม ควายเป็นศูนย์รวมของความเชื่อ มีพิธีกรรมและประเพณีที่เกี่ยวข้องกับควาย และทางเดินของควาย นอกจากจะสร้างภูมิทัศน์ที่สวยงามยังช่วยป้องกันการเกิดไฟป่าอีกด้วย

24A3DA41 F0CE 46B4 85E8 2D03A3325CE9

ปลัดกระทรวงเกษตรและสหกรณ์ กล่าวเพิ่มเติมว่า ประเทศไทยได้รับการสนับสนุนให้ผลักดันพื้นที่ชุ่มทะเลน้อย จ.พัทลุง เพื่อขึ้นทะเบียนมรดกทางการเกษตรโลก ผ่านโครงการความร่วมมือระหว่างไทย – FAO เมื่อปี พ.ศ. 2560 โดย FAO ได้สนับสนุนผู้เชี่ยวชาญเพื่อจัดทำแผนงานและเอกสารข้อเสนอการขึ้นทะเบียน (GIAHS Proposal) 

885194E0 004A 4B2C B524 510815CE6CEE

และได้กำหนดหลักเกณฑ์ที่จะสามารถขึ้นทะเบียนเป็นมรดกทางการเกษตรโลกได้ จะต้องมีองค์ประกอบครบตามหลักเกณฑ์ 5 ข้อ ได้แก่ 1) ความมั่นคงด้านอาหาร/ชีวิตความเป็นอยู่ที่ดี 2) ความหลากหลายทางชีวภาพการเกษตร 3) ระบบความรู้/ภูมิปัญญาท้องถิ่นมีมาแต่ดั้งเดิม 4) วัฒนธรรม ระบบคุณค่า และองค์กรทางสังคม และ 5) ลักษณะภูมิทัศน์/และภูมิทัศน์ทางทะเล 

โดยในปีพ.ศ. 2564 มีพื้นที่ที่ได้รับการขึ้นทะเบียน GIAHS แล้ว 62 พื้นที่ จาก 22 ประเทศทั่วโลก ทั้งนี้ หากพื้นที่ชุ่มน้ำทะเลน้อยได้รับการขึ้นทะเบียนเป็นมรดกทางการเกษตรโลกได้สำเร็จ จะทำให้เกษตรกรและชุมชนได้รับประโยชน์ในด้านการท่องเที่ยว โอกาสทางการเกษตร การจ้างงานเพิ่มขึ้น รายได้เพิ่มขึ้น และการรักษาความหลากหลายทางชีวภาพ