อย่าต้องให้ถึงขั้นกับใช้กฎหมายกันเลย “ผู้ว่าฯ จันท์” เปรยกับผู้ประกอบการส่งออกล้งมังคุด หลังเข้าตรวจเมื่อช่วงเย็น เพราะราคารับซื้อร่วงลงเร็วมาก ด้านล้งยืนยันไม่มีการฮั้วกันจนทำให้ราคาสวิง
15.00 น.(24 พฤษภาคม 2565) นาย สุธี ทองแย้ม ผู้ว่าราชการจังหวัดจันทบุรี นำทีมรองผู้ว่าราชการจังหวัดฯ พานิชย์จังหวัดฯ การค้าภายในจังหวัดฯ เกษตรจังหวัดฯ ตำรวจ และฝ่ายปกครอง เข้าตรวจสอบโรงคัดบรรจุ(ล้ง)ส่งออก มังคุด 4 แห่งใน อ.มะขาม อ.เมือง และ อ.ขลุง เพื่อสอบถามถึงการรับซื้อมังคุดจากชาวสวน รวมถึงราคารับซื้อที่ตกลงมาอย่างมาก
นาย สุธี สอบถามเรื่องราคารับซื้อมังคุดในแต่ละประเภท เนื่องจากชาวสวนร้องเรียนว่า ราคารับซื้อลดลงอย่างมาก ซึ่งไม่ควรจะลงเร็วเช่นนี้ จึงสงสัยว่า อาจจะเป็นไปได้หรือไม่ ที่ผู้ประกอบการบางคนกดราคารับซื้อหน้าล้ง เนื่องจากที่ด้านหน้าไม่ได้แสดงป้ายราคารับซื้อมังคุด เพราะเท่าที่มีข้อมูล คือ ตลาดปลายทางในต่างประเทศ ราคายังคงที่และไม่มีการปรับลดราคาขายแต่อย่างใด จึงตั้งข้อสังเกตว่า เมื่อเป็นเช่นนี้แล้วทำไมราคารับซื้อในตลาดภายในประเทศไทย ถึงได้ลดเร็วมาก หรือมีกระบวนการใดที่ทำให้ราคารับซื้อมังคุดลดลง
โดยระหว่างที่คณะของผู้ว่าราชการจังหวัดจันทบุรี สอบถามราคารับซื้อและกระบวนการ ได้ระบุว่า “อย่าให้ทางภาครัฐถึงกับใช้กฎหมายเลย และแจ้งผู้ประกอบการส่งออก ขอให้ความร่วมมือกับภาครัฐและนึกถึงชาวสวนกันด้วย เพราะอยากให้อยู่ได้ทั้ง 2 ฝ่าย คือ ชาวสวนอยู่ได้ ผู้ประกอบการอยู่รอด ขอให้ช่วยชาวสวนในเรื่องของราคารับซื้อให้สูงขึ้นกว่านี้ด้วย”
ด้านนาง รัตนา ปุรณะชัยคีรี หรือ เจ๊นา เจ้าของบริษัท ดรากอน เฟรช ฟรุท จํากัด บอกว่า สาเหตุที่ราคารับซื้อมังคุดในประเทศลงเร็ว เป็นเพราะผลผลิตออกมามากแล้ว ที่สำคัญการซื้อมังคุด ตอนนี้ต้องคำนวนการส่งออกด้วย เพราะตู้คอนเทนเนอร์ ทำความเย็นจากจีนกลับมาไทยไม่ทัน จึงทำให้ตู้ส่งออกขาดช่วง ผู้ประกอบการก็ไม่กลัาซื้อของเตรียมไว้มาก เพราะจะได้รับความเสียหาย
“ ที่บอกว่า ผู้ประกอบการ รวมตัวกันฮั้ว กดราคารับซื้อมังคุดจากชาวสวน เรายืนยัน ไม่มีแล้วพวกเราก็ไม่ทำเช่นนั้น แต่ที่ราคาลง เพราะสาเหตุที่เราแจ้งไปจริงๆ “ เจ๊นากล่าว
ขณะที่ผู้ประกอบการส่งออกมังคุด อีกรายกล่าวว่า “สาเหตุที่ราคารับซื้อมังคุดลดลง ก็เหมือนกับผู้ส่งออกรายอื่นๆ โดยเฉพาะปัญหาที่ตู้คอนเทนเนอร์ขาดช่วง ที่ยังแก้ปัญหาไม่ได้”
“เช่นเดียวกับการส่งออกผ่านด่าน บางด่านปิด ต้องไปเข้าด่านใหม่ ไปถึงด่านก็ต้องรอคิวอยู่หน้าด่านเป็น10 วัน กว่าจะได้เข้าจีน ผลไม้ก็เสีย เลยไม่มีใครกล้าส่งออกไปมากเหมือนแต่ก่อน ที่สำคัญการส่งออกผลไม้ทางรถไฟ ผู้ประกอบการต้องเสียค่าเที่ยว คิดเป็นเงินไทยตู้ละกว่า 300,000 บาท ตรงนี้ไม่มีใครแก้ปัญหาให้”
“ส่วนที่บอกกันว่า ราคารับซื้อ ปรับหลายครั้งในแต่ละวัน ก็เป็นเพราะผู้ประกอบการบางคนคาดการณ์แล้วว่า ตู้คอนเทนเนอร์กลับมาทัน จึงตั้งราคารับซื้อไว้สูง แต่เมื่อถึงเวลาจริงตู้คอนเทนเนอร์มาไม่ทันหรือไม่มีตู้ก็ต้องปรับราคารับซื้อลง”
ข้อมูลข่าวและภาพ : เสก บูรพา