ชป. ยันอุโมงค์ผันน้ำเขื่อนศรีนครินทร์ ศึกษาผลกระทบฯครบทุกด้าน ขั้นตอนต่อไป จะมีการจัดทำมาตรการบรรเทาและติดตามเพิ่มเติมตามที่มีผู้คัดค้านและมีความกังวลในทุกๆ ด้าน

กรมชลประทาน ชี้แจงกรณี การคัดค้านการสร้างอุโมงค์ผันน้ำผ่าผืนป่าเขตรักษาพันธุ์สัตว์ป่าสลักพระ เพื่อบรรเทาปัญหาภัยแล้ง จังหวัดกาญจนบุรี เนื่องจากเป็นแหล่งอาศัยของสัตว์ป่าสำคัญใกล้สูญพันธุ์และเป็นเรื่องของความมั่นคงต่อระบบนิเวศโดยรอบ นั้น

423325695 784372613737345 1706596014614065743 n

กรมชลประทาน โดยสำนักบริหารโครงการ ขอชี้แจงว่า โครงการอุโมงค์ผันน้ำจากเขื่อนศรีนครินทร์ เพื่อบรรเทาภัยแล้ง จังหวัดกาญจนบุรี ได้ดำเนินการศึกษาความเหมาะสมและประเมินผลกระทบสิ่งแวดล้อม ครอบคลุมในทุกด้าน ทั้งด้านวิศวกรรม ด้านสิ่งแวดล้อม ด้านเศรษฐกิจและสังคม ด้านการประชาสัมพันธ์และการมีส่วนร่วมของประชาชน และด้านความคุ้มทุน โดยคณะผู้เชี่ยวชาญของบริษัทที่ปรึกษาที่ทรงคุณวุฒิและวัยวุฒิด้านต่างๆ ในการกำกับดูแลงาน และผลการศึกษาได้รับการพิจารณาจากผู้ทรงคุณวุฒิและวัยวุฒิด้านต่าง ๆ ที่ได้รับคัดเลือกมาเป็นคณะกรรมการผู้ชำนาญการพิจารณารายงานการประเมินผลกระทบสิ่งแวดล้อมโครงการพัฒนาแหล่งน้ำ (คชก.) ซึ่งได้มีมติให้ผ่านการพิจารณา พร้อมจัดทำรายงานปรับปรุงตามข้อเสนอของ คชก. เพื่อเสนอสำนักงานนโยบายและแผนทรัพยากรธรรมชาติและสิ่งแวดล้อม โดยในขั้นตอนต่อไป จะมีการจัดทำมาตรการบรรเทาและติดตาม เพิ่มเติมในข้อห่วงใยหรือความกังวลในทุกๆ ด้าน รวมทั้งได้มีการนัดหมายเข้าพบผู้เกี่ยวข้องที่ยังกังวลต่อผลกระทบด้านสิ่งแวดล้อมและกรมอุทยานแห่งชาติ สัตว์ป่าและพันธุ์พืช เพื่อประโยชน์ของการพัฒนาแหล่งน้ำเพื่อประชาชน ควบคู่กับความห่วงใยและดูแลสิ่งแวดล้อมให้ได้รับผลกระทบน้อยที่สุด

สำหรับโครงการอุโมงค์ผันน้ำจากเขื่อนศรีนครินทร์ เพื่อบรรเทาภัยแล้ง อำเภอบ่อพลอย ห้วยกระเจา เลาขวัญ จังหวัดกาญจนบุรี ระยะเวลาดำเนินโครงการ 5 ปี (2570-2574) เป็นการก่อสร้างอุโมงค์ผันน้ำบริเวณอ่างเก็บน้ำเขื่อนศรีนครินทร์ไปยังอ่างเก็บน้ำลำอีซู (ขยาย) ความยาวอุโมงค์ 20.50 กิโลเมตร พร้อมวางระบบส่งน้ำไปยังพื้นที่รับประโยชน์ในเขตอำเภอบ่อพลอย (ฝั่งตะวันออกของลำตะเพิน) อำเภอห้วยกระเจา และอำเภอเลาขวัญ หากดำเนินการก่อสร้างแล้วเสร็จทั้งหมด จะสามารถส่งน้ำเพื่อการอุปโภคบริโภค ให้พื้นที่อำเภอบ่อพลอย ห้วยกระเจา และเลาขวัญ จังหวัดกาญจนบุรี ได้ประมาณ 2.97 ล้าน ลบ.ม.ต่อปี บรรเทาปัญหาการขาดแคลนน้ำเพื่อการเกษตรได้กว่า 486,098 ไร่ ส่งผลให้ราษฎรในพื้นที่มีความอยู่ดีกินดีขึ้น

ทั้งนี้ กรมชลประทาน ได้ดำเนินการศึกษาผลกระทบสิ่งแวดล้อม และคำนึงถึงผลกระทบที่เกิดจากโครงการพัฒนาแหล่งน้ำต่างๆ ในทุกด้าน ทั้งในด้านธรรมชาติและสิ่งแวดล้อม ชุมชน และประชาชน เพื่อให้โครงการฯก่อเกิดประโยชน์ต่อประชาชนให้มากที่สุด ในขณะเดียวกันก็ส่งผลกระทบด้านสิ่งแวดล้อมน้อยที่สุดด้วย