กรมประมงเตือน! เกษตรกร วางแผน – ตรวจสอบคุณภาพน้ำ ช่วงฤดูฝน หวั่นเกิดความเสียหาย

กรมประมง…เตือนเกษตรกรเฝ้าระวังสัตว์น้ำในช่วงฤดูฝน แนะวางแผนการเลี้ยง หมั่นตรวจคุณภาพน้ำ ช่วยลดความสูญเสียได้

ดร. ถาวร ทันใจ รองอธิบดีกรมประมง ในฐานะโฆษกกรมประมง เปิดเผยว่า ด้วยขณะนี้หลายพื้นที่ของประเทศไทยเริ่มมีฝนตกอย่างต่อเนื่อง ประกอบกับหย่อมความกดอากาศต่ำกำลังแรงปกคลุมบริเวณทะเลจีนใต้ตอนบนได้ทวีความรุนแรงขึ้น ส่งผลให้มีโอกาสเกิดฝนตกเพิ่มขึ้นและมีฝนตกหนักถึงหนักมาก เกือบทุกพื้นที่ จึงอาจก่อให้เกิดสภาวะน้ำท่วมฉับพลัน น้ำป่าไหลหลาก และน้ำล้นตลิ่ง

กรมประมงจึงขอแจ้งเตือนเกษตรกรผู้เพาะเลี้ยงสัตว์น้ำให้เฝ้าระวัง และหลีกเลี่ยงความเสียหายที่อาจเกิดขึ้น โดยปฏิบัติตามคำแนะนำ ดังนี้

  1. วางแผนการเลี้ยงสัตว์น้ำให้เหมาะสมกับสภาพพื้นที่และฤดูกาล เพื่อให้สามารถจับสัตว์น้ำได้ก่อน
    ฤดูน้ำหลาก โดยเลือกซื้อลูกพันธุ์สัตว์น้ำที่แข็งแรงและทนต่อโรคจากฟาร์มที่ได้มาตรฐานปล่อยสัตว์น้ำลงเลี้ยง
    ในอัตราความหนาแน่นที่เหมาะสมหรือน้อยกว่าปกติ และควรทยอยจับสัตว์น้ำที่ได้ขนาดขึ้นจำหน่ายหรือบริโภค เพื่อช่วยลดปริมาณสัตว์น้ำที่อาจสูญเสียได้
  2. ปรับปรุงและเสริมคันบ่อ ขุดร่องระบายน้ำและลอกตะกอนดิน เพื่อให้น้ำไหลเข้าออกอย่างสะดวก พร้อมทั้งตรวจสอบความแข็งแรงของกระชังอยู่เสมอ และจัดวางกระชังให้มีระยะห่างกัน เพื่อให้น้ำหมุนเวียนถ่ายเทได้สะดวก
  3. เลือกใช้อาหารคุณภาพดี มีเลขทะเบียนรับรอง และให้อาหารในปริมาณที่เหมาะสม เสริมสารอาหารหรือวิตามินที่จำเป็นต่อการเจริญเติบโต เช่น โปรไบโอติก วิตามินซี วิตามินรวม แร่ธาตุ เป็นต้น
  4. วางแผนจัดการคุณภาพน้ำอย่างมีประสิทธิภาพ โดยควบคุมปริมาณและคุณภาพน้ำให้เหมาะสม
    ได้แก่ การรักษาปริมาณน้ำให้พอเหมาะ หรือปริมาณ 2 ใน 3 ส่วนของบ่อเลี้ยงสัตว์น้ำ หากสภาพอากาศปิด มีฝนตก ปริมาณออกซิเจนในน้ำลดลงอย่างฉับพลัน เกษตรกรควรเพิ่มปริมาณออกซิเจนในน้ำโดยการเปิดเครื่องตีน้ำหรือใช้เครื่องสูบน้ำในบ่อพ่นให้สัมผัสอากาศ ส่วนกรณีที่ฝนตกหนัก ค่าความเป็นกรดเป็นด่าง (pH) ในบ่อเลี้ยงสัตว์น้ำจะมีค่าลดลง ควรโรยปูนขาวหรือปูนมาร์ล เพื่อควบคุมค่า pH และเติมเกลือแกงเพื่อลดความเครียดของสัตว์น้ำในอัตราที่เหมาะสม
  1. ระหว่างเลี้ยงควรทำสะอาดพื้นบ่อหรือกระชังอย่างสม่ำเสมอ เพื่อลดปริมาณสารอินทรีย์ เศษอาหาร มูลของเสีย ซึ่งเป็นแหล่งอาหารและที่อยู่อาศัยของปรสิต รวมถึงเชื้อโรคต่าง ๆ
  2. หมั่นตรวจสุขภาพสัตว์น้ำอย่างสม่ำเสมอ กรณีมีสัตว์น้ำป่วยตายควรกำจัดโดยการฝังหรือเผา ไม่ควรทิ้งซากสัตว์น้ำที่ป่วยบริเวณบ่อหรือกระชังที่เลี้ยง เนื่องจากจะเป็นแหล่งแพร่กระจายของเชื้อโรค
%E0%B8%A0%E0%B8%B2%E0%B8%9E%E0%B8%9B%E0%B8%A3%E0%B8%B0%E0%B8%81%E0%B8%AD%E0%B8%9A%E0%B8%82%E0%B9%88%E0%B8%B2%E0%B8%A7%E0%B9%81%E0%B8%96%E0%B8%A5%E0%B8%87 %E0%B8%9B%E0%B8%A12 scaled

ทั้งนี้ ในพื้นที่ที่มีฝนตกอย่างต่อเนื่องอาจทำให้คุณภาพน้ำเปลี่ยนแปลงกะทันหัน ส่งผลให้สัตว์น้ำ ทั้งในบ่อดินและกระชังปรับตัวไม่ทัน ทำให้เกิดโรคหรือตายอย่างฉับพลันได้ เกษตรกรควรหมั่นสังเกตพฤติกรรมของสัตว์น้ำ เช่น การกินอาหาร การว่ายน้ำ ลักษณะอาการภายนอก หากพบความผิดปกติให้รีบหาสาเหตุและแก้ไข หากไม่สามารถวินิจฉัยโรคได้ด้วยตนเอง ให้รีบปรึกษาผู้เชี่ยวชาญที่มีประสบการณ์ด้านโรคและด้านการจัดการคุณภาพสัตว์น้ำ ซึ่งสิ่งที่เกษตรกรควรเฝ้าระวังในช่วงฤดูฝน คือ

  1. โรคที่เกิดจากปรสิตในปลา เช่น เห็บระฆัง ปลิงใส เห็บปลา สังเกตุได้จากปลาจะมีอาการซึม ผอม ไม่ค่อยกินอาหาร ว่ายน้ำผิดปกติ ขับเมือกออกมามาก มีแผลเลือดออกที่ลำตัว เกษตรกรสามารถกำจัดปรสิตภายนอกได้โดยการใช้ฟอร์มาลีนในปริมาณ 25 – 50 มิลลิลิตร (ซีซี) ต่อน้ำ 1 ตัน (1,000 ลิตร) หรือใช้ด่างทับทิม 1 – 2 กรัมต่อน้ำ 1 ตัน (1,000 ลิตร) แช่ทิ้งไว้นาน 1 วัน จากนั้นให้ทำการเปลี่ยนถ่ายน้ำที่ผสมฟอร์มาลีน หรือด่างทับทิมโดยทำซ้ำอีก 2 – 3 ครั้ง
  2. โรคที่เกิดจากแบคทีเรียในปลา เช่น โรคที่เกิดจากเชื้อแอโรโมแนสในปลานิล เป็นต้น สังเกตุได้โดยปลาจะมีแผลตกเลือดตามลำตัวและครีบ ท้องบวม ควรนำปลามาตรวจวินิจฉัยชนิดของแบคทีเรียและทดสอบความไวต่อยาต้านจุลชีพต่อแบคทีเรียที่จะใช้ในการรักษา
  3. โรคไวรัสในปลา เช่น โรค TiLV เป็นต้น สังเกตุได้จากปลามีการจะว่ายน้ำผิดปกติ มีแผลที่ลำตัว อัตราการตายสูง ทั้งนี้ ไม่มีการรักษาโรคไวรัสชนิดนี้ แต่ป้องกันได้โดยให้ควบคุมคุณภาพน้ำและการให้อาหารที่เหมาะสม
  4. คุณภาพน้ำที่เปลี่ยนแปลงอย่างกะทันหัน เช่น อุณหภูมิ ความเป็นกรดเป็นด่าง ตะกอนในน้ำมากขึ้น หรือตะกอนแขวนลอยในน้ำสูง ทำให้การแลกเปลี่ยนออกซิเจนของเหงือกลดลง ปลาจะมีพฤติกรรมลอยหัว เปิด – ปิดกระพุ้งแก้มเร็ว

นอกจากนี้ ในช่วงฤดูฝน เกษตรกรผู้เลี้ยงกุ้งมักประสบปัญหาความเค็มและอุณหภูมิของน้ำที่แปรปรวน อาจทำให้เกิดโรคในกุ้ง เช่น ตัวแดงดวงขาว ทอร่า และโรคอื่น ๆ โดยปัญหาที่มักเกิดกับผู้เลี้ยงกุ้ง คือ

  1. กุ้งกินอาหารน้อยลง มีผลกับการเจริญเติบโตของกุ้ง และหากอาหารเหลือตกค้างที่บ่อ จะทำให้ปริมาณออกซิเจนในบ่อลดลง เกิดปัญหาต่อสุขภาพกุ้งได้
  2. แพลงก์ตอนบางส่วนตายเนื่องจากปริมาณน้ำฝนที่ตกลงในบ่อ ทำให้น้ำเกิดตะกอนขุ่น ส่งผลให้เกิดการอุดตันในเหงือกกุ้ง ทำให้เหงือกกุ้งมีสีเข้มขึ้นและติดเชื้อแบคทีเรีย สังเกตได้จากกุ้งมีพฤติกรรมว่ายเกาะตามขอบบ่อ
  3. ในกรณีที่ฝนตกติดต่อกันหลายวัน ส่งผลให้น้ำมีอุณหภูมิต่ำ ภูมิคุ้มกันของกุ้งจะลดลง มักพบกุ้งป่วยเป็นโรคไวรัสตัวแดงดวงขาวระบาดอย่างรุนแรง

​รองอธิบดีกรมประมง กล่าวเพิ่มเติมว่า แนะนำให้เกษตรกรติดตามข่าวสารการพยากรณ์อากาศ จากทางราชการอย่างใกล้ชิด หากประสบปัญหาในการเพาะเลี้ยงสัตว์น้ำสามารถขอรับคำแนะนำได้ที่ สำนักงานประมงอำเภอ/จังหวัด ศูนย์วิจัยและพัฒนาการเพาะเลี้ยงสัตว์น้ำจืด/ชายฝั่ง ศูนย์วิจัยและพัฒนาประมงน้ำจืด/ทะเล ทุกแห่งทั่วประเทศ และกองวิจัยและพัฒนาสุขภาพสัตว์น้ำ กรุงเทพมหานคร โทร. 0 2561 5412 เว็บไซต์ https://www4.fisheries.go.th/local/index.php/main/personel/1272 หรือ Line ID : 443kvkee