3 จังหวัดชายแดนใต้ พร้อมรับมือฤดูฝน- พื้นที่เสี่ยง 32 แห่ง

นายประพิศ จันทร์มา อธิบดีกรมชลประทาน เปิดเผยว่า ขณะนี้เริ่มเข้าสู่ฤดูฝนภาคใต้แล้ว โครงการชลประทานในพื้นที่ภาคใต้ตอนล่างในเขตสำนักงานชลประทานที่ 17 (ยะลา ปัตตานี และนราธิวาส) เตรียมพร้อมรับมือฝนตกหนักและสถานการณ์น้ำหลาก ตามแผนรับมืออุทกภัยปี 2565 ของกองอำนวยการน้ำแห่งชาติ(กอนช.) ซึ่งมี พล.อ.ประวิตร วงษ์สุวรรณ รองนายกรัฐมนตรี เป็นผู้อำนวยการ กอนช.

315088358 510717441101334 7331523832216676904 n 1
3 จังหวัดชายแดนใต้ พร้อมรับมือฤดูฝน

โดยสำนักงานชลประทานที่ 17 ได้เตรียมความพร้อมด้านเครื่องจักรเครื่องมือ การกำหนดตัวบุคคลรับผิดชอบ กำหนดพื้นที่เสี่ยงรวม 32 แห่ง การตรวจสอบอาคารชลประทานในพื้นที่รับผิดชอบให้มีสภาพพร้อมใช้งานรวมถึงนำมาตรการเตรียมความพร้อมรับมือน้ำหลากจาก 13 มาตรการ สู่ 4 แนวทางปฏิบัติ ได้แก่ คาดการณ์พื้นที่เสี่ยง หลีกเลี่ยงสิ่งกีดขวาง ระบบชลประทานเร่งระบายและ Stand by เครื่องมือเครื่องจักร มาใช้เพื่อเตรียมสถานการณ์ในช่วงฤดูฝน ปัจจุบันโครงการชลประทานในสังกัดสำนักงานชลประทานที่ 17 ได้เตรียมความพร้อม ดังนี้

โครงการชลประทานปัตตานี ได้จัดเตรียมกระสอบทราย เพื่อใช้ในการปิดท่อระบายน้ำ ณ บริเวณเขื่อนกันตลิ่ง จำนวน 100 กระสอบ และติดตั้งเครื่องสูบน้ำ ณ บริเวณมัสยิด บ้านจางา ตำบลปะกาฮะรัง อำเภอเมืองปัตตานี

โครงการชลประทานนราธิวาส ดำเนินการกำจัดวัชพืชท่อระบายน้ำกลางคลองระบายน้ำพรุบาเจาะสาย 2 โครงการพรุบาเจาะ – ไม้แก่นอันเนื่องมาจากพระราชดำริ บริเวณ ท่อระบายน้ำกลางคลองระบายน้ำพรุบาเจาะสาย 2 ตำบลโคกเคียน อำเภอเมืองนราธิวาส เพื่อเพิ่มประสิทธิภาพการไหลของน้ำในทางน้ำชลประทาน และเตรียมพร้อมรับมือสถานการณ์น้ำในช่วงฤดูฝนปี 2565

โครงการชลประทานยะลา ติดตามความพร้อมการทำงานของฝายแก่งนางรำ หมู่ที่ 5 ตำบลตาชี อำเภอยะหา , ฝายต้นชดและท่อระบาย ตำบลพร่อน , โครงการจัดหาน้ำให้ราษฎร หมู่ที่ 3,4 บ้านตาราแด๊ะ ตำบลบันนังสาเรง (กลุ่มบึงบองอ) อำเภอเมืองยะลา เพื่อเตรียมพร้อมรับมือสถานการณ์น้ำในช่วงฤดูฝน

ทั้งนี้ กรมชลประทาน ได้ติดตามสภาพอากาศและสถานการณ์น้ำอย่างใกล้ชิด พร้อมบริหารจัดการน้ำให้สอดคล้องกับสถานการณ์ รวมทั้งบูรณาการความร่วมมือกับหน่วยงานที่เกี่ยวข้องในการประชาสัมพันธ์ถึงสถานการณ์น้ำให้ประชาชนรับทราบอย่างต่อเนื่องและทั่วถึง

ด้านกรมอุตุนิยมวิทยา พยากรณ์อากาศ ระบุว่า ภาคใต้ระหว่าง 9-18 พ.ย. 65 ตั้งแต่ จ.ชุมพรลงไป ยังจะต้องเจอฝน เป็นฝนเล็กน้อยถึงปานกลางตกต่อเนื่อง มีฝนตกหนักบางแห่ง โดยเฉพาะภาคใต้ฝั่งอ่าวไทย เนื่องจากร่องมรสุมยังพาดผ่านภาคใต้ และมีมรสุมตะวันออกเฉียงเหนือพัดปกคลุม

ปภ.รายงานยังมีน้ำท่วมในพื้นที่ 9 จังหวัด

ด้านกรมป้องกันและบรรเทาสาธารณภัย (ปภ.) กระทรวงมหาดไทย ในฐานะกองอำนวยการป้องกันและบรรเทาสาธารณภัยกลาง (กอปภ.ก.) รายงานว่า จากมรสุมตะวันตกเฉียงใต้พัดปกคลุมทะเลอันดามัน ประเทศไทย และอ่าวไทย ทำให้มีฝนตกหนักถึงหนักมากกับมีลมแรง บริเวณภาคเหนือ ภาคตะวันออกเฉียงเหนือ ภาคกลาง ภาคตะวันออก ภาคใต้ และอ่าวไทยและความกดอากาศสูงหรือมวลอากาศเย็นกำลังปานกลางจากประเทศจีนยังคงปกคลุมประเทศไทยตอนบนประกอบกับร่องมรสุมพาดผ่านภาคใต้ตอนกลาง

รวมถึงมีการระบายน้ำจากเขื่อนลงแม่น้ำสายหลัก และลำน้ำสาขา ซึ่งส่งผลให้เกิดน้ำท่วมฉับพลัน น้ำป่าไหลหลาก น้ำล้นตลิ่งและน้ำท่วมขัง ระหว่างวันที่ 28 กันยายน – 8 พฤศจิกายน 2565 ได้เกิดน้ำท่วมในพื้นที่จำนวน 59 จังหวัด รวม 353 อำเภอ 1,879 ตำบล 11,770 หมู่บ้าน ประชาชนได้รับผลกระทบ 528,063 ครัวเรือน มีผู้เสียชีวิต 12 ราย ปัจจุบันยังคงมีสถานการณ์ 9 จังหวัด 34 อำเภอ 235 ตำบล 1,475 หมู่บ้าน ประชาชนได้รับผลกระทบ 103,653 ครัวเรือน ภาพรวมระดับน้ำลดลงอย่างต่อเนื่องทุกจังหวัด ดังนี้

1.มหาสารคาม น้ำท่วมในพื้นที่ 4 อำเภอ ได้แก่ อำเภอเมืองมหาสารคาม อำเภอกันทรวิชัย อำเภอโกสุมพิสัย และอำเภอเชียงยืน รวม 16 ตำบล 115 หมู่บ้าน ประชาชนได้รับผลกระทบ 4,964 ครัวเรือน

2. กาฬสินธุ์ น้ำท่วมในพื้นที่ 2 อำเภอ ได้แก่ อำเภอฆ้องชัย และอำเภอกมลาไสย รวม 7 ตำบล 42 หมู่บ้าน ประชาชนได้รับผลกระทบ 370 ครัวเรือน

3.ศรีสะเกษ น้ำท่วมในพื้นที่อำเภอเมืองศรีสะเกษ รวม 4 ตำบล 34 หมู่บ้าน ประชาชนได้รับผลกระทบ 2,709 ครัวเรือน มีผู้เสียชีวิต 3 ราย

4. อุบลราชธานี น้ำท่วมในพื้นที่ 5 อำเภอ ได้แก่ อำเภอเมืองอุบลราชธานี อำเภอวารินชำราบ อำเภอสว่างวีระวงศ์ อำเภอตาลสุม และอำเภอดอนมดแดง รวม 20 ตำบล 104 หมู่บ้าน ประชาชนได้รับผลกระทบ 4,026 ครัวเรือน อพยพประชาชน 281 ชุมชน ไปยังศูนย์พักพิงชั่วคราว 72 จุด

5.ชัยนาท น้ำท่วมในพื้นที่ 3 อำเภอ ได้แก่ อำเภอเมืองชัยนาท อำเภอวัดสิงห์ และอำเภอมโนรมย์ รวม 11 ตำบล 41 หมู่บ้าน ประชาชนได้รับผลกระทบ 1,750 ครัวเรือน

6.อ่างทอง น้ำท่วมในพื้นที่ 6 อำเภอ ได้แก่ อำเภอวิเศษชัยชาญ อำเภอป่าโมก อำเภอไชโย อำเภอเมืองอ่างทอง
อำเภอโพธิ์ทอง และอำเภอแสวงหา รวม 49 ตำบล 298 หมู่บ้าน ประชาชนได้รับผลกระทบ 19,705 ครัวเรือน

7.พระนครศรีอยุธยา น้ำท่วมในพื้นที่ 8 อำเภอ ได้แก่ อำเภอเสนา อำเภอผักไห่ อำเภอบางบาล อำเภอบางไทร อำเภอบางปะอิน อำเภอพระนครศรีอยุธยา อำเภอบางซ้าย และอำเภอลาดบัวหลวง รวม 53 ตำบล 312 หมู่บ้าน ประชาชนได้รับผลกระทบ 33,725 ครัวเรือน มีผู้เสียชีวิต 1 ราย

8.สุพรรณบุรี น้ำท่วมในพื้นที่ 2 อำเภอ ได้แก่ อำเภอบางปลาม้า และอำเภอสองพี่น้อง รวม 25 ตำบล 185 หมู่บ้าน ประชาชนได้รับผลกระทบ 23,811 ครัวเรือน

9.นครปฐม น้ำท่วมในพื้นที่ 3 อำเภอ ได้แก่ อำเภอสามพราน อำเภอบางเลน และอำเภอนครชัยศรี

รวม 50 ตำบล 344 หมู่บ้าน ประชาชนได้รับผลกระทบ 12,593 หมู่บ้าน