เร่งสร้าง สถานีสูบน้ำสนามชัย จ.สงขลา คืบหน้าแล้วกว่า 71 %

กรมชลประทาน เร่งเครื่องงานก่อสร้างสถานีสูบน้ำสนามชัย ตำบลสนามชัย อำเภอสทิงพระ จังหวัดสงขลา คืบหน้าแล้วกว่าร้อยละ 71 คาดแล้วเสร็จภายในปีนี้ หวังบรรเทาปัญหาอุทกภัยในพื้นที่คาบสมุทรสทิงพระ ได้อย่างมีประสิทธิภาพ

S 56737801
เร่งสร้างสถานีสูบน้ำสนามชัย จ.สงขลา

นายประพิศ จันทร์มา อธิบดีกรมชลประทาน เปิดเผยว่า พื้นที่คาบสมุทรสทิงพระ จังหวัดสงขลา ครอบคลุมพื้นที่ 4 อำเภอ ได้แก่ อำเภออระโนด อำเภอกระแสสินธุ์ อำเภอสทิงพระ และอำเภอสิงหนคร มีพื้นที่ลุ่มต่ำที่มักประสบปัญหาอุทกภัยเป็นประจำ อีกทั้งยังประสบปัญหาการขาดแคลนน้ำเพื่อการเกษตร ส่งผลให้เกิดความเสียหายต่อพื้นที่เกษตรกรรม ประชาชนได้รับความเดือดร้อน กรมชลประทาน จึงได้ดำเนินการก่อสร้างสถานีสูบน้ำสนามชัย พร้อมอาคารประกอบ เพื่อแก้ไขปัญหาดังกล่าว โดยเป็นการก่อสร้างสถานีสูบน้ำ 1 แห่ง ที่มีศักยภาพในการสูบน้ำได้สูงสุด 20 ลูกบาศก์เมตรต่อวินาที ระยะเวลาดำเนินงานก่อสร้าง 4 ปี (พ.ศ. 2563-2566) ปัจจุบันมีผลงานความคืบหน้าไปแล้วกว่าร้อยละ 71 คาดว่าจะแล้วเสร็จตามแผนในปีนี้ เมื่อก่อสร้างแล้วเสร็จ จะสามารถช่วยเร่งการระบายน้ำออกจากคลองระบายน้ำคลองหนังในช่วงน้ำทะเลหนุนได้อย่างมีประสิทธิภาพมากขึ้น ช่วยบรรเทาปัญหาอุทกภัยและการขาดแคลนน้ำในพื้นที่อำเภอสทิงพระได้เป็นอย่างมาก

S 56737802
เร่งสร้างสถานีสูบน้ำสนามชัย จ.สงขลา

ด้านกรมอุตุนิยมวิทยา พยากรณ์อากาศ ระหว่าง 16 – 22 เมษายน พ.ศ. 2566 ระบุว่าในวันที่ 16 เม.ย. 66 บริเวณความกดอากาศสูงหรือมวลอากาศเย็นกำลังปานกลางจากประเทศจีนจะแผ่ลงมาปกคลุมภาคตะวันออกเฉียงเหนือและทะเลจีนใต้ ส่งผลทำให้ลมใต้และลมตะวันออกเฉียงใต้ที่พัดนำความชื้นจากทะเลจีนใต้และอ่าวไทยเข้ามาปกคลุมประเทศไทยตอนบนมีกำลังแรงขึ้น ในขณะที่บริเวณประเทศไทยตอนบนมีอากาศร้อนถึงร้อนจัด ลักษณะเช่นนี้ทำให้ประเทศไทยตอนบนจะมีพายุฤดูร้อนเกิดขึ้นโดยมีลักษณะของพายุฝนฟ้าคะนอง ลมกระโชกแรง และลูกเห็บตกบางแห่ง รวมถึงอาจมีฟ้าผ่าเกิดขึ้นได้บางพื้นที่ โดยจะเริ่มมีผลกระทบในภาคตะวันออกเฉียงเหนือ และภาคตะวันออกก่อน ส่วนภาคอื่น ๆ จะได้รับผลกระทบในระยะถัดไป 

ส่วนในช่วงวันที่ 17 – 22 เม.ย. 66 บริเวณความกดอากาศสูงหรือมวลอากาศเย็นกำลังปานกลางที่ปกคลุมภาคตะวันออกเฉียงเหนือ และทะเลจีนใต้มีกำลังอ่อนลง ส่งผลทำให้ลมใต้และลมตะวันออกเฉียงใต้ที่พัดนำความชื้นจากทะเลจีนใต้และอ่าวไทยเข้ามาปกคลุมประเทศไทยตอนบนมีกำลังอ่อนลง ทำให้ประเทศไทยตอนบนมีฝนลดลง แต่ยังคงมีฝนฟ้าคะนองกับมีลมกระโชกแรงบางแห่งเกิดขึ้นได้ ในขณะที่ความกดอากาศต่ำเนื่องจากความร้อนปกคลุมประเทศไทยตอนบน ทำให้ประเทศไทยตอนบนมีอากาศร้อนถึงร้อนจัดโดยโดยทั่วไป กับมีฟ้าหลัวในตอนกลางวัน 
                                

และในช่วงวันที่ 17 – 22 เม.ย. 66 ลมตะวันตกเฉียงเหนือพัดปกคลุมทะเลอันดามันและภาคใต้ ทำให้ภาคใต้มีฝนฟ้าคะนองบางแห่ง