GISTDA พร้อมบริการข้อมูลพื้นที่เสี่ยงภัยแล้งที่รวดเร็วและง่ายต่อการใช้งาน

ความแห้งแล้งในประเทศไทยส่วนใหญ่เกิดจากฝนแล้งและฝนทิ้งช่วง โดยสภาวะฝนแล้งคือภาวะที่ปริมาณฝนตกมีน้อยกว่าปกติ หรือไม่ตกตามฤดูกาล ส่งผลให้เกิดความแห้งแล้งในรอบปีได้ 2 ช่วง

drought 3618653 960 720
ภัยแล้ง

1.ความแห้งแล้งช่วงฤดูหนาวต่อเนื่องฤดูร้อน (ครึ่งหลังของเดือนตุลาคมถึงกลางเดือนพฤษภาคม) มักเกิดความแห้งแล้งได้ในบริเวณประเทศไทยตอนบน (ภาคเหนือ ภาคตะวันออกเฉียงเหนือ) และบางส่วนของภาคกลางและภาคตะวันออก โดยมีปริมาณฝนลดลงเป็นลำดับจนกว่าจะเข้าสู่ฤดูฝนในช่วงกลางเดือนพฤษภาคมของปีถัดไป ภัยแล้งลักษณะนี้เกิดขึ้นเป็นประจำทุกปี

2.ความแห้งแล้งช่วงกลางฤดูฝน (ปลายเดือนมิถุนายนถึงเดือนกรกฎาคม) เป็นกรณีของฝนทิ้งช่วง มักเป็นเหตุการณ์ที่เกิดเฉพาะถิ่น กล่าวคือเกิดได้ในบางบริเวณ แต่บางปีก็อาจเกิดครอบคลุมพื้นที่กว้างขวางได้เช่นกัน ลักษณะความแห้งแล้งรูปแบบนี้มักเกิดเด่นชัดในภาคตะวันออกเฉียงเหนือ ปัจจุบันภาวะฝนแล้งและฝนทิ้งช่วงมีแนวโน้มรุนแรงขึ้น สันนิษฐานกันว่ามีสาเหตุมาจากการเปลี่ยนแปลงสภาวะภูมิอากาศโลก ความเสียหายจากความแห้งแล้งจัดเป็นภัยพิบัติทางธรรมชาติที่เรียกกันว่า ภัยแล้ง อันเป็นภัยที่คุกคามชีวิตและทรัพย์สินของประชาชนและสามารถส่งผลกระทบต่อเศรษฐกิจโดยรวมของประเทศได้ โดยเฉพาะอย่างยิ่งในภาคการเกษตรและภาคเศรษฐกิจที่เกี่ยวข้อง

ความหมายของความแห้งแล้งมีการให้คํานิยามที่ต่างกันไป

-ความแห้งแล้งทางอุตุนิยมวิทยา (Meteorological Drought) เป็นความแห้งแล้งที่เกิดจากฝนทิ้งช่วง หรือมีฝนน้อยกว่าระดับที่กำหนด (threshold) โดยช่วงที่เกิดความแห้งแล้งสามารถพิจารณาจากจำนวนวันที่ฝนตกน้อยกว่าระดับที่กำหนด ความแห้งแล้งเชิงอุตุนิยมวิทยาเป็นจุดเริ่มต้นของปัญหาความแห้งแล้งในลักษณะอื่น ๆ ที่จะเกิดขึ้นตามมาได้

-ความแห้งแล้งทางการเกษตร (Agricultural Drought) เป็นความแห้งแล้งที่เป็นผลกระทบต่อเนื่องมาจากความแห้งแล้งทางอุตุนิยมวิทยา เป็นการพิจารณาการทิ้งช่วงของฝนที่ทำให้ดินขาดความชุ่มชื้นจนส่งผลกระทบต่อพืชทางการเกษตรบางชนิด ทั้งนี้เพราะพืชมีความทนทานต่อสภาพความแปรปรวนของภูมิอากาศได้ต่างกัน ความต้องการน้ำและช่วงอายุของพืชก็ตอบสนองต่อความแห้งแล้งแตกต่างกัน หากความแห้งแล้งมีมากจนสงผลกระทบต่อผลผลิตทางการเกษตรจนเกิดความเสียหายที่กว้างขวางก็ถือว่าเป็นภัยแล้งได้

-ความแห้งแล้งทางอุทกวิทยา (Hydrological Drought) เป็นความแห้งแล้งที่เกิดจากการที่ช่วงฤดูกาลมีปริมาณฝนน้อยหรือไม่มีฝนกว่าเกณฑ์ปกติทำให้ระดับน้ำผิวดินที่อยู่ในแม่น้ำอ่างเก็บน้ำ ทะเลสาบและน้ำใต้ดิน(น้ำบาดาล) ลดระดับลง นอกจากนี้อาจมีปัจจัยอื่นร่วมเป็นสาเหตุให้เกิดความแห้งแล้งทางด้านนี้ได้ด้วย เช่น การเปลี่ยนแปลงการใช้ที่ดินบริเวณพื้นที่ต้นน้ำที่ส่งผลต่อพื้นที่ท้ายน้ำ ความแห้งแล้งทางอุทกวิทยามักพิจารณาในระดับลุ่มน้ำโดยความแห้งแล้งรูปแบบนี้จะเกิดขึ้นอย่างช้าๆ ต่างจากความแห้งแล้งทางอุตุนิยมวิทยา และความแห้งแล้งทางการเกษตร และระดับความรุนแรงของปัญหาก็เป็นสิ่งที่ประเมินได้ยาก

-ความแห้งแล้งทางเศรษฐกิจและสังคม (Socio-economic Drought) เป็นความแห้งแล้งที่พิจารณาจากทรัพยากรที่มีอยู่ (supply) และความต้องการทรัพยากรนั้น (demand) แต่เนื่องจากความจํากัดของทรัพยากรที่มีอยู่ในขณะที่ความต้องการทรัพยากรมีมากจึงก่อให้เกิดความขาดแคลนขึ้น ดังนั้นความแห้งแล้งทางเศรษฐกิจและสังคมจะแตกต่างจากนิยามความแห้งแล้งรูปแบบอื่น ๆ ด้วยมองที่คนเป็นหลักโดยพิจารณาที่ความต้องการใช้กับความจํากัดของทรัพยากร

การประยุกต์ใช้ข้อมูลการสํารวจระยะไกลเพื่อการประเมินความแห้งแล้งมักเป็นการวิเคราะห์หาข้อมูลอนุพันธ์ภาพจากดาวเทียมสํารวจโลกที่สามารถสะท้อนสภาวะความแห้งแล้งของพื้นที่ได้ ผ่านดัชนีบ่งชี้ต่าง ๆ เช่น ดัชนีพืชพรรณ (Normalized Difference Vegetation Index : NDVI), ดัชนีความแตกต่างความชื้น (Normalized Difference Water Index : NDWI), ดัชนีเงื่อนไขอุณหภูมิ (Temperature Condition Index : TCI), ดัชนีเงื่อนไขพืชพรรณ (The Vegetation Condition Index : VCI), ดัชนีความชื้นในดิน (Soil Moisture Index) เป็นต้น ทั้งนี้ เพราะลักษณะทางชีพลักษณ์ที่แตกต่างกันของพืชพรรณที่ปกคลุมพื้นที่มีความสัมพันธ์กับรูปแบบเชิงพื้นที่และเชิงเวลาของความแห้งแล้ง เนื่องจากพืชจะตอบสนองต่อการขาดน้ำ เช่น เกิดการเหี่ยวเฉาหรือการทิ้งใบ

ประเทศไทยตั้งอยู่ในภูมิภาคที่มีฤดูฝนและฤดูแล้งแยกกันชัดเจน การเกิดความแห้งแล้งในรอบปีหนึ่ง ๆ เป็นเรื่องปกติ สังเกตได้จากการที่พื้นที่เกือบทุกภูมิภาคของประเทศปกคลุมไปด้วยป่าผลัดใบนอกจากนี้พืชเกษตรพื้นเมืองหลายชนิดที่เกษตรกรเลือกปลูกตามภูมิปัญญาที่สั่งสมมาก็สะท้อนเรื่องความสามารถของพืชที่ทนต่อการขาดน้ำได้แตกต่างกันอันเนื่องมาจากความแห้งแล้งในรอบปี

ดังนั้นการประเมินความแห้งแล้งจึงสามารถใช้ลักษณะปรากฏของพืชพรรณที่ตรวจวัดได้จากการสํารวจด้วยดาวเทียมเป็นตัวบ่งชี้ได้ นอกจากนี้พบว่าในหลายประเทศมีการใช้การสํารวจระยะไกลเป็นเครื่องมือประเมินความแห้งแล้ง ดังพบได้จากรายงานผลการวิจัยของ Anyamba et al. (2001), Kogan (1993), Nicholson et al. (1994), Seiler et al. (2000), Son et al. (2012), และ Wang et al. (2001) เป็นต้น การศึกษาเหล่านี้ชี้ให้เห็นว่า เทคโนโลยีการสํารวจด้วยดาวเทียมเป็นทางเลือกที่ดีในการติดตามรูปแบบความแห้งแล้งได้ทั้งเชิงพื้นที่และเชิงเวลาที่เท่าทันต่อการรับสถานการณ์

ดัชนีพื้นที่เสี่ยงภัยแล้ง (Drought Risk Index: DRI) เป็นชุดข้อมูลเชิงพื้นที่ที่ได้มาจากการคำนวณร่วมกันระหว่างข้อมูลที่สกัดจากภาพถ่ายจากดาวเทียม เช่น ดัชนีพืชพรรณ (Normalized Difference Vegetation Index : NDVI), ดัชนีอุณหภูมิพื้นผิว (Land Surface Temperature : LST), ดัชนีเงื่อนไขอุณหภูมิ (Temperature Condition Index : TCI), ดัชนีเงื่อนไขพืชพรรณ (The Vegetation Condition Index : VCI), ดัชนีความสมบูรณ์ของพืชพรรณ (Vegetation Health Index : VHI) ทั้งหมดล้วนเป็นข้อมูลปัจจัยที่เกี่ยวข้องกับภัยแล้ง

การใช้เทคโนโลยีอวกาศและภูมิสารสนเทศในการสร้างดัชนีพื้นที่เสี่ยงภัยแล้ง (DRI) ในช่วงหลายปีที่ผ่านมา โดย GISTDA ได้วิเคราะห์ข้อมูลและให้บริการผ่านระบบบริการออนไลน์มาอย่างต่อเนื่อง ควบคู่ไปกับการพัฒนาให้ดียิ่งขึ้นมาโดยตลอด ได้ช่วยให้หน่วยงานที่เกี่ยวข้องในการแก้ปัญหาภัยแล้ง มีข้อมูลเชิงพื้นที่เกี่ยวกับสถานการณ์ภัยแล้งที่สามารถนำไปใช้ในการบริหารจัดการได้มากขึ้น ทั้งด้านการบริหารจัดการน้ำ การทำฝนหลวง รวมถึงมาตรการช่วยเหลือเยียวยาเกษตรกร

ปัจจุบัน GISTDA ได้พัฒนาแบบจำลองเพื่อประมวลผลดัชนีต่างๆจากภาพดาวเทียมทั้งจากระบบ Passive ที่เราคุ้นเคยกันดีและจากระบบ Active หรือข้อมูล SAR ที่มีความสัมพันธ์กับภัยแล้งและมีจุดเด่นคือบันทึกข้อมูลได้อย่างต่อเนื่องโดยไม่มีเมฆเป็นอุปสรรคในการถ่ายภาพ มาใช้ร่วมในการวิเคราะห์หาดัชนีพื้นที่เสี่ยงภัยแล้งเพื่อความแม่นยำมากยิ่งขึ้น

นอกจากนั้น ไม่เพียงค่าดัชนีต่างๆที่สกัดจากภาพถ่ายดาวเทียม GISTDA ยังนำข้อมูลทางอุตุนิยมวิทยาและข้อมูลความชื้นในดินจากสถานีตรวจวัดภาคพื้นดินที่ GISTDA ดำเนินการติดตั้งกระจายทั่วประเทศจำนวนกว่า 40 สถานี มาวิเคราะห์ร่วมกันและคำนวณเป็นดัชนีภัยแล้ง (Drought Index) ที่สามารถบ่งชี้สภาวะภัยแล้งให้มีความถูกต้องมากขึ้นและมีความละเอียดเชิงพื้นที่ที่ดียิ่งขึ้น นับว่าเป็นสิ่งใหม่สำหรับการพัฒนาการในครั้งนี้

ข้อมูลที่ได้จากการวิเคราะห์หาพื้นที่เสี่ยงภัยแล้งจะมีให้บริการผ่านเว็บไซต์เพื่อเป็นแหล่งอ้างอิงและดาวน์โหลดข้อมูลสำหรับผู้ใช้งานที่ต้องการนำไปวิเคราะห์เพิ่มเติม ขณะเดียวกันการเข้าถึงด้วยแอปพลิเคชันบนมือถือจะทำให้ผู้ใช้จากทุกภาคส่วนโดยเฉพาะประชาชนทั่วไปสามารถเข้าถึงข้อมูลได้รวดเร็วขึ้น

การสร้าง platform ที่หลากหลายเพื่อการเข้าถึงข้อมูลพื้นที่เสี่ยงภัยแล้งที่วิเคราะห์จากภาพถ่ายดาวเทียม จะช่วยอำนวยความสะดวกในการใช้ข้อมูลได้ทั้งในระดับนโยบาย ระดับปฏิบัติการ และระดับพื้นที่ ในการเฝ้าระวัง เตรียมความพร้อมรับมือกับสถานการณ์ภัยแล้ง ได้ทันต่อสถานการณ์

ประโยชน์ที่เกิดขึ้นจะทำให้หน่วยงานระดับนโยบายและหน่วยบริหารจัดการน้ำภาคการเกษตร รวมถึงภาคประชาชน มองเห็นสถานการณ์ภัยแล้งในพื้นที่เป็นภาพเดียวกัน หน่วยงานสามารถนำไปประกอบการกำหนดทิศทาง การกระจายน้ำเพื่อการบรรเทาปัญหาภัยแล้งทั้งในสภาวะวิกฤติและสภาวะปกติ โดยสามารถดำเนินการแก้ไขปัญหาด้านภัยแล้งได้ล่วงหน้าและอย่างทันท่วงที สามารถลดความเสียหายของพืชในพื้นที่เกษตร รวมไปถึงเกษตรกรก็จะได้รับการช่วยเหลือ ได้รับการสนับสนุนที่สอดคล้องกับผลกระทบที่ได้รับอย่างรวดเร็วและทันการ

สำหรับภาคประชาชน เป็นแหล่งข้อมูลสร้างความเข้าใจและรู้ทันสถานการณ์ภัยแล้งในพื้นที่ของตน เพื่อเตรียมการรับมือเบื้องต้น ป้องกันผลกระทบต่อภาคการเกษตร ประสานงานกับภาครัฐเพื่อให้ข้อมูลเพิ่มเติมในการบรรเทาสถานการณ์ บนพื้นฐานข้อมูลเดียวกันและความเข้าใจที่ตรงกัน แม้ว่าปีนี้สถานการณ์ภัยแล้งจะไม่รุนแรงแต่การเตรียมความพร้อมเป็นสิ่งจำเป็นเพื่อในยามฉุกเฉินเราจะยังสามารถรับมือและป้องกันความเสียหายได้อย่างทันท่วงที

และเมื่อช่วงเดือนมีนาคม 2566 กระทรวงการอุดมศึกษา วิทยาศาสตร์ วิจัยและนวัตกรรม (อว.) โดย GISTDA และสำนักงานการวิจัยแห่งชาติ, กระทรวงเกษตรและสหกรณ์ โดยสำนักงานปลัดกระทรวงเกษตรและสหกรณ์ กรมส่งเสริมการเกษตร และกรมชลประทาน, กระทรวงดิจิทัลเพื่อเศรษฐกิจและสังคม โดยกรมอุตุนิยมวิทยา, กระทรวงมหาดไทย โดยกรมป้องกันและบรรเทาสาธารณภัย และสำนักงานทรัพยากรน้ำแห่งชาติ ได้ลงนามบันทึกความเข้าใจว่าด้วยความร่วมมือด้านการประยุกต์ใช้เทคโนโลยีและนวัตกรรมภูมิสารสนเทศเพื่อช่วยเหลือเกษตรกรที่ประสบภัยแล้ง ซึ่งความร่วมมือครั้งนี้เป็นจุดเริ่มต้นของการขับเคลื่อนการใช้ประโยชน์จากแพลตฟอร์มประเมินพื้นที่เสี่ยงภัยแล้งของพืชเกษตรรายแปลงด้วยเทคโนโลยีภูมิสารสนเทศ สำหรับการช่วยเหลือเกษตรกรที่ได้รับผลกระทบจากภัยแล้งในภาคการเกษตร ภัยพิบัติ รวมทั้งการบริหารจัดการน้ำ เพื่อให้เกษตรกรและประชาชนทุกพื้นที่สามารถเข้าถึงข้อมูล ข้อเท็จจริง ที่เป็นหลักฐานเชิงประจักษ์จากดาวเทียม ในการเตรียมพร้อมรับมือและแก้ไขปัญหาผลกระทบจากภัยแล้ง

อีกทั้งหน่วยปฏิบัติในพื้นที่ และหน่วยงานที่กำกับดูแลด้านนโยบาย ยังสามารถใช้เป็นข้อมูลสนับสนุนการตัดสินใจในการช่วยเหลือและฟื้นฟูผู้ประสบภัยแล้ง ซึ่งสอดคล้องกับข้อมูลที่อยู่ภายใต้การประเมินความเสียหายด้วยเทคโนโลยีภูมิสารสนเทศ

ขณะนี้ได้เริ่มดำเนินการในพื้นที่นำร่อง 6 จังหวัดแล้วได้แก่ จังหวัดนครราชสีมา สกลนคร ร้อยเอ็ด สุรินทร์ กำแพงเพชร และอุทัยธานี ทั้งนี้ เพื่อเป็นเครื่องมือสำหรับหน่วยงานทั้งระดับปฏิบัติการและระดับนโยบาย ได้นำไปใช้ในการวางแผนและดำเนินการในส่วนที่เกี่ยวข้อง รวมทั้งเป็นเครื่องมือให้กับภาคประชาชนได้เข้าถึงเพื่อการรับรู้และการติดตามสถานการณ์ภัยแล้งของประเทศต่อไป