สวก.จับมือภาคีเครือข่าย กสก.และ กวก. ชู “แหนแดง”แทนปุ๋ยไนโตรเจน ลดต้นทุนการผลิต ผ่านศูนย์จัดการดินปุ๋ยชุมชน  

%E0%B8%A0%E0%B8%B2%E0%B8%9E%E0%B8%AA%E0%B8%A7%E0%B8%811
สวก.จับมือภาคีเครือข่าย กสก.และ กวก. ชู “แหนแดง”แทนปุ๋ยไนโตรเจน

สำนักงานพัฒนาการวิจัยการเกษตร(องค์การมหาชน)หรือ สวก. สนับสนุนทุนด้านการนำผลงานวิจัยและนวัตกรรมไปใช้ประโยชน์ (RU: Research Utilization) ปีงบประมาณ พ.ศ. 2566 ให้กรมส่งเสริมการเกษตร ขยายผลเทคโนโลยีและองค์ความรู้ของกรมวิชาการเกษตร ในการผลิตและใช้แหนแดงเพื่อลดต้นทุนการผลิต  สู่เกษตรกร โดยเมื่อวันที่ 17 กรกฎาคม 2566 ที่ผ่านมา กรมส่งเสริมการเกษตรจัดงานเปิดตัวโครงการฯ เพื่อมอบเทคโนโลยีและองค์ความรู้ในการผลิตและใช้แหนแดง ให้หน่วยงานและเกษตรกรได้รับความรู้ความเข้าใจ สามารถผลิตและใช้แหนแดงเพิ่มธาตุอาหารให้แก่ดิน ทดแทนการใช้ปุ๋ยไนโตรเจนที่มีราคาแพง และมีแนวโน้มปรับสูงขึ้น โดยถ่ายทอดเทคโนโลยีสู่กลไกการขยายผล ณ “ศูนย์จัดการดินปุ๋ยชุมชนดีเด่น” นำร่องในพื้นที่ 9 จังหวัด ได้แก่ สระบุรี สมุทรสงคราม ระยอง กาฬสินธุ์ สุรินทร์ พังงา พัทลุง กำแพงเพชร และพะเยา ส่งต่อและใช้ขยายผลสู่เกษตรกรทั่วประเทศ ขับเคลื่อนการใช้ประโยชน์ปลายทาง เพื่อสร้างผลกระทบสำคัญ ตามนโยบายส่งเสริมให้เกษตรกรใช้ปุ๋ยอย่างมีประสิทธิภาพ ด้วยการผลิตและใช้แหนแดง ช่วยลดต้นทุนการผลิตได้

%E0%B8%A0%E0%B8%B2%E0%B8%9E%E0%B8%AA%E0%B8%A7%E0%B8%812
สวก.จับมือภาคีเครือข่าย กสก.และ กวก. ชู “แหนแดง”แทนปุ๋ยไนโตรเจน

“แหนแดง” เป็นเฟิร์นลอยน้ำชนิดหนึ่ง เปรียบเสมือนโรงงานผลิตปุ๋ยไนโตรเจนทางชีวภาพ เนื่องจากมีกระบวนการตรึงไนโตรเจนของสาหร่ายสีเขียวแกมน้ำเงินที่อาศัยอยู่ในโพรงใบของแหนแดง ทำให้แหนแดงมีประโยชน์ในด้านทดแทนหรือลดการใช้ปุ๋ยเคมี ซึ่งแหนแดงมีไนโตรเจนสูงถึง 4.6 % มากกว่าพืชตระกูลถั่วย่อยสลายเป็นธาตุอาหารให้แก่พืชได้โดยเร็ว โดยแหนแดงในนาข้าวพื้นที่ 1 ไร่ ให้น้ำหนักสดประมาณ 3,000 กิโลกรัม คิดเป็นไนโตรเจนประมาณ 6-7.5 กิโลกรัมต่อไร่ ทำให้เกษตรกรลดค่าใช้จ่ายในการใช้ปุ๋ยยูเรียได้ 13-16 กิโลกรัม มูลค่าเฉลี่ย 232 บาท (ไนโตรเจน 1 กิโลกรัม เทียบเท่ากับยูเรีย 2.17 กิโลกรัม)

messageImage 1689918293236
สวก.จับมือภาคีเครือข่าย กสก.และ กวก. ชู “แหนแดง”แทนปุ๋ยไนโตรเจน

โดยกรมวิชาการเกษตรแนะนำให้เกษตรกรใช้แหนแดงสายพันธุ์อะซอลล่า ไมโครฟิลล่า (Azolla microphylla) ลักษณะเด่น คือ มีใบขนาดใหญ่กว่าสายพันธุ์อื่น เจริญเติบโตและขยายพันธุ์ได้อย่างได้รวดเร็ว ให้ผลผลิตสูงกว่าสายพันธุ์พื้นเมืองถึง 10 เท่า ซึ่งการใช้แหนแดงจะช่วยให้เกษตรกรลดต้นทุนจากการใช้ปุ๋ย เพิ่มอินทรียวัตถุให้แก่ดิน ทำให้ดินมีความอุดมสมบูรณ์ ปรับปรุงโครงสร้างดินดีขึ้นในระยะยาว เป็นการช่วยดูแลฟื้นฟูทรัพยากรดิน สอดคล้องกับแนวทางการขับเคลื่อนภาคการเกษตรด้วยโมเดลเศรษฐกิจ BCG ของกระทรวงเกษตรและสหกรณ์

messageImage 1689918282102

ดร.วิชาญ อิงศรีสว่าง ผู้อำนวยการสำนักงานพัฒนาการวิจัยการเกษตร กล่าวว่า สวก. เป็นหน่วยบริหารจัดการทุนวิจัยด้านการเกษตร ภายใต้การกำกับดูแลของรัฐมนตรีว่าการกระทรวงเกษตรและสหกรณ์ และการสนับสนุนทุนวิจัยจากกองทุน ววน. การนำงานวิจัยเทคโนโลยีและนวัตกรรมด้านการเกษตรที่พิสูจน์แล้วว่าสามารถนำไปใช้ได้จริง เพื่อแก้ไขปัญหา พัฒนาการเกษตร ลดรายจ่าย และสร้างรายได้ให้กับภาคการเกษตร เป็นภารกิจที่สำคัญอย่างหนึ่งของ สวก. ในระบบการสนับสนุนทุนวิจัยเพื่อการใช้ประโยชน์จากผลงานวิจัย  การขับเคลื่อนการใช้ประโยชน์จากแหนแดงเพื่อเพิ่มธาตุอาหารให้แก่ดิน และลดการใช้ปุ๋ยไนโตรเจนครั้งนี้  เป็นตัวอย่างที่ดี หากเกษตรกรมีการใช้อย่างแพร่หลายแล้วจะเกิดผลกระทบเชิงบวก ทั้งด้านเศรษฐกิจ สังคม และสิ่งแวดล้อม ทำให้ภาคการเกษตรของประเทศเกิดความยั่งยืน อันเป็นเป้าหมายสำคัญในการพัฒนาเพื่อความยั่งยืนของประเทศ อีกทั้งโครงการนี้ ยังเป็นการบูรณาการงานของหน่วยงานในกระทรวงเกษตรและสหกรณ์ ผ่านการส่งเสริมการใช้ประโยชน์จากงานวิจัยในรูปแบบเครือข่ายงานวิจัยร่วมกัน