หยุดปัญหาฝุ่นพิษ เปลี่ยนข้าวโพดเชิงเดี่ยว เป็นเกษตรเชิงนิเวศในพื้นที่สูง

ปัญหาฝุ่นพิษจากการเผาในพื้นที่เกษตรจากการขยายตัวของการปลูกข้าวโพดเพื่อป้อนอุตสาหกรรมอาหารสัตว์เข้าไปในพื้นที่ป่าและพื้นที่เกษตรกรรมแบบดั้งเดิม กลายเป็นปัญหาใหญ่ระดับชาติ และส่งผลกระทบต่อสุขภาพของประชาชนอย่างกว้างขวาง เกษตรกรรายย่อยซึ่งเป็นแค่เพียงส่วนหนึ่งของระบบจากการผลักดันของบริษัทก็ได้ผลตอบแทนเพียงน้อยนิด เมื่อหักต้นทุนเมล็ดพันธุ์ ปุ๋ย สารเคมีการเกษตร รวมไปถึงดอกเบี้ยเพื่อชำระเงินกู้ เป็นต้น

%E0%B8%82%E0%B9%89%E0%B8%B2%E0%B8%A7%E0%B9%82%E0%B8%9E%E0%B8%94%E0%B9%80%E0%B8%A5%E0%B8%B5%E0%B9%89%E0%B8%A2%E0%B8%87%E0%B8%AA%E0%B8%B1%E0%B8%95%E0%B9%8C 2
หยุดปัญหาฝุ่นพิษ เปลี่ยนข้าวโพดเชิงเดี่ยว

การแก้ปัญหา ที่มุ่งส่งเสริมการปลูกข้าวโพดเชิงเดี่ยวในพื้นที่สูงต่อไป จะไม่สามารถแก้ปัญหาที่เกิดขึ้นได้จริง ไม่ว่าจะเป็นเรื่องฝุ่นพิษ การชะล้างพังทลายของดิน การสูญเสียความหลากหลายทางชีวภาพ และผลกระทบต่อสุขภาพทั้งของเกษตรกรและผู้บริโภค

ทางออกของการแก้ปัญหา ควรนำหลักการนิเวศเกษตรและเกษตรเชิงนิเวศเข้ามาจัดการ โดยการมีส่วนร่วมของเกษตรกรรายย่อยและชุมชน ไม่ใช่การแก้ปัญหาโดยรัฐและบรรษัทเป็นผู้กำหนดเหมือนที่กำลังดำเนินการ

โดยแนวทางการปรับเปลี่ยนดังกล่าว มีแนวทางดังต่อไปนี้

1) ในพื้นที่ป่าต้นน้ำที่มีความลาดชันสูงและอ่อนไหว ต้องสงวนเป็นพื้นที่ป่าธรรมชาติ โดยประชาชนมีส่วนร่วม

2) รัฐต้องส่งเสริมบทบาทชุมชนในการดูแลบริหารป่าชุมชนให้มากยิ่งขึ้น โดยชุมชนจะได้ประโยชน์จากป่าซึ่งเป็นที่มาของปัจจัยสี่ และเศรษฐกิจของท้องถิ่นจากหน่อไม้ เห็ด ผักพื้นบ้านจากป่า ฯลฯ โดยรัฐเป็นฝ่ายสนับสนุนทางวิชาการและอื่น ๆ ให้ป่าชุมชนเป็นทั้งแหล่งค้ำจุนทางนิเวศและส่งเสริมวิถีชีวิตที่ยั่งยืนของชุมชน การศึกษาเป็นจำนวนมากพบว่า ผลตอบแทนทางเศรษฐกิจของประชาชนที่ได้ประโยชน์จากป่าชุมชนสูงยิ่งกว่าค่าแรงขั้นต่ำ ทั้งยังสามารถรักษาป่าไว้ได้ดีกว่าฝากป่าไว้กับหน่วยงานของรัฐโดยลำพัง

3) เปลี่ยนแปลงจากไร่ข้าวโพดเป็นรูปแบบเกษตรเชิงนิเวศในพื้นที่สูง ที่จะสร้างเศรษฐกิจที่เข้มแข็ง ตอบสนองต่อความมั่นคงทางอาหาร และค้ำจุนระบบนิเวศนั้น มีหลากหลายรูปแบบ เช่น

3.1 ไร่หมุนเวียน-ในพื้นที่ที่ชุมชนท้องถิ่นเรียกร้องและมีความพร้อมควรสนับสนุนให้มีระบบไร่หมุนเวียน ระบบการผลิตนี้ถือเป็นมรดกทางวัฒนธรรมที่เป็นต้นกำเนิดของความหลากหลายทางชีวภาพ-ภูมิปัญญาท้องถิ่น ทั้งนี้โดยรัฐต้องสนับสนุนให้โฉนดชุมชนแก่ชุมชนต่าง ๆ เพื่อเป็นหลักประกันด้านสิทธิที่ยั่งยืนแก่ชุมชนและป้องกันมิให้ที่ดินถูกเปลี่ยนมือไปยังเอกชนภายนอก

3.2 วนเกษตร-ในพื้นที่ที่เหมาะสม ควรปลูกพืชเศรษฐกิจ เช่น กาแฟ ชา เมี่ยง ไม้ผลพื้นเมือง ผักพื้นเมือง สมุนไพร ฯลฯ ร่วมกับไม้ยืนต้น

3.3 ปลูกข้าวโพดสลับกับกระถินหรือพืชตระกูลถั่วอื่น ๆ ในแนวระดับ-หากเกษตรกรประสงค์จะปลูกข้าวโพดต่อไป ควรส่งเสริมการผลิตที่ยั่งยืนในรูปแบบนี้มากกว่าการผลิตเชิงเดี่ยว โดยผลผลิตจากข้าวโพดและผลผลิตจากพืชตระกูลถั่วควรนำมาใช้เป็นวัตถุดิบในการเลี้ยงสัตว์เอง เช่น ไก่พื้นเมือง หรือหมูพื้นบ้าน ซึ่งจะทำให้เกษตรกรได้ผลตอบแทนทางเศรษฐกิจสูงกว่าจากมูลค่าเพิ่มที่ได้จากระบบเกษตรแบบผสมผสานดังกล่าว

พร้อมกันนี้ ต้องส่งเสริมบทบาทของเกษตรกรรุ่นใหม่ สหกรณ์ ผู้ประกอบการในท้องถิ่น หรือประกอบการจากภายนอก เข้ามาเชื่อมโยงในการนำผลผลิตไปแปรรูปหรือจำหน่าย โดยบทบาทของรัฐและองค์กรท้องถิ่นควรทำหน้าที่ในการสนับสนุนและส่งเสริมมากขึ้น

รัฐบาลหลายคณะที่ผ่านมาใช้เงินงบประมาณปีละเฉลี่ยนับแสนล้านบาท เพื่ออุดหนุนราคาสินค้าหรือการผลิตเชิงเดี่ยว ควรจัดสรรงบประมาณซึ่งไม่ได้นำไปสู่ความเข้มแข็งของเกษตรกรหรือภาคเกษตรกรรม นำมาใช้ในการลงทุนหรือสนับสนุนทรัพยากรเพื่อให้เกิดการปรับเปลี่ยนดังกล่าว

ที่มา : เพจนิเวศเกษตร