นวัตกรรมจีโนมกับการพัฒนาสายพันธุ์อ้อย โอกาสความร่วมมือระหว่างกว่างซี-ไทย

“อ้อย”เป็นวัตถุดิบหลักในการผลิตน้ำตาลที่พวกเราคุ้นกันในชีวิตประจำวัน เป็นพืชเศรษฐกิจที่มีความสำคัญต่อระบบอุตสาหกรรมการเกษตรของจีน (เช่นเดียวกับประเทศไทย) พันธุ์อ้อยที่ใช้ในการเพาะปลูกจะส่งผลโดยตรงต่อระยะเวลาการปลูก รวมถึงคุณภาพและผลผลิต

%E0%B8%AD%E0%B9%89%E0%B8%AD%E0%B8%A2 3
ไร่อ้อย

“เขตปกครองตนเองกว่างซีจ้วง”  เป็นแหล่งผลิตอ้อยและน้ำตาลแหล่งใหญ่ที่สุดของจีน มีพื้นที่ปลูกอ้อยและปริมาณผลผลิตน้ำตาลคิดเป็นสัดส่วนราว 65% ของทั้งประเทศ ขึ้นแท่น ‘นับเบอร์ 1’ ของจีนติดต่อกัน 30 ฤดูหีบอ้อย (ฤดูหีบอ้อยของกว่างซีอยู่ในช่วงระหว่างเดือนพฤศจิกายน – เมษายนของปีถัดไป

จากข้อมูลพบว่า นับตั้งแต่การสถาปนาสาธารณรัฐประชาชนจีน พ.ศ. 2492 จนถึงปัจจุบัน ประเทศจีนได้ปรับปรุงพันธุ์อ้อยและส่งเสริมให้มีการปลูกอย่างแพร่หลายมาแล้ว 5 ครั้ง การปรับปรุงพันธุ์อ้อยแต่ละครั้งสามารถเพิ่มผลผลิตต่อหน่วยได้ 1 ตัน เพิ่มระดับความหวานได้ร้อยละ 1 จุด อย่างไรก็ดี เมื่อเทียบกับพืชเศรษฐกิจชนิดอื่น ๆ แล้ว การศึกษาวิจัยด้านพันธุ์อ้อยในจีนยังถือว่าอยู่ในระดับต่ำ ซึ่งเป็นอุปสรรคต่อการพัฒนาของอุตสาหกรรมอ้อยและน้ำตาลในจีนสู่ความมั่นคงและยั่งยืน

ในการประชุม High-Level Forum ว่าด้วยการปรับปรุงพันธุ์พืชด้วยเทคโนโลยีชีวภาพสมัยใหม่และการยกระดับสายพันธุ์อ้อย ซึ่งจัดขึ้นเป็นครั้งแรกเมื่อวันที่1 กรกฎาคม 2566 ที่นครหนานหนิง เขตฯ กว่างซีจ้วง นายจาง จีเซิน (Zhang Jisen/张积森) ผู้อำนวยการประจำห้องปฏิบัติการหลักเพื่ออนุรักษ์และใช้ประโยชน์ทรัพยากรชีวภาพทางการเกษตรกึ่งเขตร้อนแห่งชาติ ชี้ว่า ปัจจุบัน พันธุ์อ้อยหลักที่ปลูกมีฐานพันธุกรรมแคบ (narrow gene base) เมื่อปลูกติดต่อกันเป็นเวลานานแล้ว จึงเกิดการถดถอยทางพันธุกรรมสูง ส่งผลต่อความสามารถในการปรับตัวตามสภาพแวดล้อม (ไม่ทนหนาว) และความต้านทานต่อโรคและแมลง (ติดโรคแส้ดำได้ง่ายขึ้นกว่าเดิม)

เนื่องจากอ้อยเป็นพืชที่มีจำนวนโครโมโซมหลายชุด หรือเรียกว่า พืชโพลีพลอยด์(polyploid) ด้วยโครงสร้างทางพันธุกรรมที่มีความซับซ้อนและไม่แน่นอนการใช้วิธีปรับปรุงพันธุ์อ้อยแบบมาตรฐานดั้งเดิมอย่างการผสมข้ามพันธุ์จึงเป็นวิธีที่มีผลิตภาพต่ำ เนื่องจากกระบวนการในการทดสอบผลผลิตต้องใช้เวลานานลักษณะทางพันธุกรรม (Phenotype) วัดได้ยากและลักษณะความต้านทานโรคและแมลงไม่สูง

ดังนั้น การพัฒนานวัตกรรมทางเทคโนโลยีเพื่อการปรับปรุงพันธุ์อ้อยจึงเป็น‘กุญแจ’ดอกสำคัญที่ช่วยปลดพันธนาการที่เป็นอุปสรรคต่อการพัฒนาในอุตสาหกรรมอ้อยและน้ำตาล ช่วยเพิ่มมูลค่าและลดต้นทุนการผลิต รวมทั้งส่งเสริมการพัฒนาอุตสาหกรรมที่แข็งแกร่งและยั่งยืน และกุญแจดอกนั้น ก็คือ“เทคโนโลยีชีวภาพ”

ปัจจุบันการพัฒนาและใช้ประโยชน์จากเทคโนโลยีการปรับแต่งพันธุกรรม (Genome Editing) การคัดเลือกจีโนม (Genomic Selection) รวมทั้งการศึกษาอณูพันธุศาสตร์ หรือ จีโนมิกส์ (Genomics) ได้สร้าง‘โอกาสใหม่’ให้กับการปรับปรุงพันธุ์อ้อยให้ได้พันธุ์อ้อย ทั้งการปรับปรุงพันธุ์อ้อยเดิมและพัฒนาพันธุ์อ้อยใหม่ ให้มีลักษณะปรากฎ (Phenotype) ที่มีคุณภาพสูง ให้ผลผลิตและค่าความหวานสูง มีความต้านทานโรคและแมลงสูง มีความสามารถไว้ตอได้ดี(Ratooning Ability)

อย่างในเขตฯ กว่างซีจ้วง หลายปีมานี้แม้ว่าจะเริ่มต้นการพัฒนาเทคโนโลยีการปรับปรุงพันธุ์พืชค่อนข้างช้า การอนุรักษ์และใช้ประโยชน์จากทรัพยากรพันธุรกรรมพืช (germplasm resource) ไม่เต็มประสิทธิภาพ และยังขาดแคลนผู้เชี่ยวชาญ แต่การปรับปรุงสายพันธุ์อ้อยในเขตฯ กว่างซีจ้วงถือว่าประสบความก้าวหน้าในระดับหนึ่ง

ห้องปฏิบัติการหลักเพื่ออนุรักษ์และใช้ประโยชน์ทรัพยากรชีวภาพทางการเกษตรกึ่งเขตร้อนแห่งชาติ (State Key Laboratory for Conservation and Utilization of Subtropical Agro-bioResources /亚热带农业生物资源保护与利用国家重点实验室)จัดตั้งโดยมหาวิทยาลัย South China Agriculture และมหาวิทยาลัยกว่างซี ในช่วงหลายปีมานี้ประสบความสำเร็จในการพัฒนาอ้อย 43 สายพันธุ์ใหม่ และได้รับการส่งเสริมการปลูกมากกว่า 65% ของพื้นที่ปลูกทั้งประเทศ

“ต่อไปนี้ พวกเรา (กว่างซี) จะสนับสนุนการปรับปรุงพันธุ์อ้อย ส่งเสริมการวิจัยและพัฒนาอ้อยพันธุ์ดี และส่งเสริมการปลูกพันธุ์อ้อยดีให้กับเกษตรกร ผลักดันให้การปรับปรุงพันธุ์อ้อยเป็นอุตสาหกรรม (Industrilization) รวมถึงการใช้เครื่องจักรกลทางการเกษตรในการปลูกและเก็บเกี่ยวผลผลิตเพื่อเพิ่มขีดความสามารถในการแข่งขันของอุตสาหกรรมน้ำตาลของกว่างซี” นายหลี่ เวินกัง เผย

ศูนย์ข้อมูลเพื่อธุรกิจไทยในจีน ณ นครหนานหนิง ขอให้ข้อมูลเพิ่มเติมว่า เมื่อ 10 ปีก่อน ประเทศผู้ผลิตและส่งออกน้ำตาลอ้อยรายใหญ่ของโลกอย่างบราซิล ได้เริ่มต้นการใช้เทคโนโลยีการปรับแต่งพันธุกรรมในอ้อยโดยวิธีการใส่ยีน (Gene) ของแบคทีเรียบีที(BT/Bacillus thuringiensis) เข้าไปในยีนของพันธุ์อ้อย และประสบความสำเร็จใน 5 ปีต่อมา

ในประเทศไทยอุตสาหกรรมอ้อยและน้ำตาลเป็นอุตสาหกรรมที่มีความสำคัญต่อประเทศ เป็นปัจจัยการผลิตที่สำคัญในระบบอุตสาหกรรมและการส่งออกของไทย (ไทยเป็นผู้ส่งออกน้ำตาลอันดับ 2 ของโลก) ถือเป็นหนึ่งใน‘ฟันเฟือง’ตัวสำคัญที่ช่วยขับเคลื่อนเศรษฐกิจของประเทศไทย

หลายปีที่ผ่านมา ประเทศไทยก็มีการศึกษาวิจัยเกี่ยวกับการปรับปรุงพันธุ์อ้อยอย่างต่อเนื่อง นำโดยสำนักงานพัฒนาวิทยาศาสตร์และเทคโนโลยีแห่งชาติ หรือ สวทช. โดยศูนย์โอมิกส์แห่งชาติ (NOC) และพันธมิตรภาคเอกชน ก็มีความร่วมมือด้านการวิจัยและพัฒนาองค์ความรู้และเทคโนโลยีที่มีประสิทธิภาพในการปรับปรุงและคัดเลือกสายพันธุ์อ้อยที่ให้ความหวานสูง เพื่อสนับสนุนการเติบโตของอุตสาหกรรมอ้อยและน้ำตาลในประเทศ

ในบริบทที่อุตสาหกรรมน้ำตาลโลกกำลังเผชิญกับความท้าทายและแรงกดดันจากสต็อกน้ำตาลส่วนเกินที่เพิ่มขึ้นในตลาดโลก ตลอดจนกระแสรักสุขภาพ(sugarless)การปรับขึ้นภาษีความหวานในหลายประเทศและความไม่แน่นอนของกฏระเบียบภาครัฐ ซึ่งส่งผลกระทบต่อการราคาน้ำตาล และการพัฒนาของอุตสาหกรรมอ้อยและน้ำตาลที่ยากจะหลีกเลี่ยงรวมถึงประเทศไทยด้วย

เมื่อคำนึงถึงสถานการณ์ข้างต้นการปรับปรุงสายพันธุ์อ้อยที่ให้ผลผลิตและให้ค่าความหวานสูงจึงมีบทบาทสำคัญอย่างยิ่ง  ศูนย์ข้อมูลเพื่อธุรกิจไทยในจีน ณ นครหนานหนิง เห็นว่า หน่วยงานหรือผู้ประกอบการธุรกิจที่เกี่ยวข้องกับอ้อยและน้ำตาลสามารถพัฒนาความร่วมมือและการแลกเปลี่ยนด้านเทคโนโลยีและนวัตกรรมการปรับปรุงและพัฒนาสายพันธุ์อ้อยกับหน่วยงาน/องค์กรในเขตฯ กว่างซีจ้วงยิ่งในภาวะที่เกษตรกรชาวไร่อ้อยขาดแรงจูงใจในการเพาะปลูกอ้อย ที่ส่งผลให้พื้นที่เพาะปลูกลดลง การมุ่งเป้าพัฒนาการผลิตอ้อยที่ให้ผลผลิตต่อหน่วยสูง (ใช้พื้นที่ปลูกน้อย แต่ได้ผลผลิตมาก) เป็นแนวทางที่ช่วยรักษาเสถียรภาพให้กับอุตสาหกรรมอ้อยและน้ำตาลไทยได้ นอกจากนี้ เกษตรกรยังสามารถนำพื้นที่ปลูกอ้อยเดิมไปพัฒนาการเกษตรอื่นได้อย่างมีประสิทธิภาพด้วย

ที่มา ศูนย์ข้อมูลเพื่อธุรกิจไทยในจีน ณ นครหนานหนิง